ทว่านายอุตตมก็คือหนึ่งในบอร์ดผู้ร่วมอนุมัติปล่อยกู้ในขณะนั้นแต่ไม่ได้รับโทษ แกนนำฝ่ายค้านจึงทำการหยิบยกเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 "ฉบับปราบโกง" มาย้อนศร โดยมาตรา 160 (4) และ (5) เกี่ยวกับคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรี กำหนดให้ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และไม่ประพฤติฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาดักคอทำทางเตรียมซักฟอก หากโผครม.ประยุทธ์2 อย่างเป็นทางการ มีชื่อนายอุตตมตามกระแสข่าว
วอยซ์ออนไลน์จึงพูดคุยกับ นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระ ผู้เกาะติด คดีมหากาพย์ปล่อยกู้คดีทุจริตกรุงไทย 9.9 พันล้านบาทข้าวทศวรรษ โดยสามารถสรุปไทม์ไลน์ ต้นสายปลายเหตุได้ดังนี้
00วันที่ 9 ธ.ค. 46 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ครั้งที่ 48/2546 ณ สำนักงานใหญ่ โดยมีรายนามกรรมการบริหารลงชื่อร่วมประชุมครบ 5 รายคือ1.ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ 2.นายวิโรจน์ นวลแข 3.นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ 4.นายอุตตม สาวนายน และ5.นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา
มีมติอนุมัติเงินกู้วงเงิน 9,900 ล้านบาท ให้ บจ.โกลเด้นฯ ในกลุ่มบมจ.กฤษดามหานคร แบ่งเป็น 3 ก้อน คือ ค่ารีไฟแนนซ์ที่ติดธนาคารกรุงเทพ 8,000 ล้านบ้าน ค่าที่ดิน 500 ล้านบาท และค่าพัฒนาสาธารณูปโภค 1,400 ล้านบาท
นายวันชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่มาของการทุจริตนั้นอยู่ที่การขึ้นเช็ค 11 ฉบับ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ในรายงานการประชุมก็ไม่ได้ระบุไว้ให้รอบครอบถึงการจ่ายเช็คที่ควรกำหนดให้ออกฉบับเดียวสำหรับผู้กู้เท่านั้น หัวใจของคดีทุจริตนี้อยู่ที่การปล่อยสินเชื่อของบอร์ดธนาคารกรุงไทย 5 ราย ที่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้กู้ไปรีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงเทพ 8 พันล้านบาท แต่ไม่ได้ศึกษารายละเอียดถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่ลดลงเหลือ 4.4 พันล้านบาท เป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของธนาคารกรุงไทย
ส่วนข้อแก้ต่างของนายอุตตมที่มักชี้แจงว่า ตอนเป็นบอร์ดได้พยายามคัดค้านแล้ว นั้น ทนายความอิสระ มองว่า ฟังไม่ขึ้น การอนุมัติสินเชื่อนั้น ต้องใช้เสียงบอร์ดทั้ง 5 คน บอร์ดเพียงคนเดียวไม่สามารถไฟเขียวได้ การซักถามในรายละเอียดคงเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ในการลงมติต้องเห็นชอบทั้งหมด ถ้านายอุตตมไม่เห็นด้วยก็กู้และเบิกเงินกู้ไม่ได้ ในส่วนนายชัยณรงค์รอดเพราะถูกกันไว้ในฐานะพยานบอกเล่าทั้งยังน่าตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทำไมนายอุตตมและนายชัยณรงค์ถึงไปเบิกความวันเดียวกันในวันที่ 16 ก.ค.57 และก็ไม่ได้ปฏิเสธในการลงมติปล่อยสินเชื่อ ตามที่มีเอกสารหลักฐานรายงานการประชุมระบุชัด
"ในเมื่อบอร์ด 3 คนลงมติแล้วมีความผิด อีก 2 คนที่ร่วมลงมติมีความผิดด้วยหรือไม่ ในทางกฎหมายคนที่ทำผิดอาจไม่ถูกลงโทษแต่ก็ถือว่ามีความผิด ดังนั้นถ้าโผครม.ปรากฏชื่อนายอุตตมเป็นรมว.การคลังตามกระแสข่าว ก็จะเข้าข่ายขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง มาตรา 3 ที่กำหนดให้ครม.ต้องยึดหลักนิติธรรม และมาตรา160 เกี่ยวกับคุณสมบัติรัฐมนตรีอย่างชัดเจน" ทนายความอิสระทิ้งท้าย
ผู้มีรายชื่อในบอร์ด 2 ใน 5 ไม่ถูกเอาผิด แต่มาเอาผิดพยานที่ชื่อพานทองแท้ ชินวัตร
ในทางตรงข้าม ขณะที่อุตตมผู้เป็นบอร์ดอนุมัติเงินกู้กรุงไทยครั้งนั้นไม่มีชื่อถูกดำเนินคดี แต่นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ถูกเรียกเป็นพยาน กลับถูกดำเนินคดีในที่สุดเมื่อเขามอบหลักฐานการรับมอบเช็คที่ตัวเขาเองไม่ได้รับไว้โดยส่งคืนเงินจำนวนที่ถูกกล่าวหาไปแล้วทั้งหมด ซึ่งเช็คจำนวนดังกล่าวถูกส่งมอบให้บุคคลหลายคนรวมถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษและ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป นายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรม ที่ได้รับเงิน จากก้อนเดียวกัน แต่การถูกเร่งรัดเอาผิดกลับสวนทางกัน
ทว่า ในเดือนตุลาคม 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดสำนวนคดีพิเศษที่ 25/2560 กล่าวหานายพานทองแท้ ชินวัตร นางกาญจนาภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน และนางเกศินี จิปิภพ (เจาะจงกล่าวหาเฉพาะผู้รับโอนเพียง 4 ราย จากบรรดาผู้รับโอนทั้งหมดหนึ่งร้อยกว่าราย) ในมูลค่าการกระทำความผิด 26 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท (จากมูลค่าเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทั้งสิ้น 9,900 ล้านบาท)
สิงหาคม 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ สรุปสำนวนคดีพิเศษที่ 25/2560 โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง 3 ราย คือ นายพานทองแท้ ชินวัตร นางกาญจนาภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน ในความผิดฐานฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ส่งต่อพนักงานอัยการ และต่อมาอัยการส่งฟ้องและศาลรับฟ้องไว้และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 พ.ย. ที่จะถึงนี้
16 ปีผ่านไป รอยด่างพร้อยยังคงแจ่มชัด นับจากนี้ชื่อของนายอุตตมจะตกเป็นเป้าโจมตีอย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบร่วมกันระหว่าง ภาคประชาสังคมนอกสภา กับ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ทำหน้าหน้าที่อย่างแข็งขัน จองกฐินพร้อมซักฟอกทันที เมื่อโฉมหน้ารัฐบาลประยุทธ์ 2 ปรากฏชัด โปรดติดตามตอนต่อไป ชนิดห้ามกระพริบตา
อ่านเพิ่มเติม