ไม่พบผลการค้นหา
"ผู้คนส่วนใหญ่ประเมินความสำเร็จของตนเองในระยะเวลาหนึ่งปีสูงเกินไป และประเมินความสำเร็จในระยะเวลาสิบปีต่ำเกินไป" บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์
หากศักยภาพประเทศไทยได้รับการพัฒนาและสนับสนุนไปในทางที่ดี สิบปีที่ผ่านมา ไม่แน่ว่าผู้คนคงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่แร้นแค้นขนาดนี้ - แร้นแค้นขนาดนี้มันคือขนาดไหนคุณอาจกำลังถามอยู่ในใจ 

คงขนาดที่ว่า รายได้เฉลี่ยสูงที่สุดในชั่วชีวิตที่มนุษย์สัญชาติไทยจะหาได้ อ้างอิงข้อมูลของธนาคารโลก อยู่ที่ 17,200 บาท/เดือน สำหรับเพศหญิง โดยต้องรอเมื่อพวกเธออายุ 36 ปี สถิติต่ำลงมาอยู่ที่ 16,700 บาท/เดือน สำหรับเพศชาย และเวลายืดออกไปเป็นปีที่ 41 ของชีวิต 

เรายังไม่ได้ใส่ข้อมูลมิติอื่นๆ ที่บั่นทอนการมีชีวิตอยู่ในสยามประเทศ ทั้งเพศสภาพ ชาตกำเนิด โอกาสทางการศึกษา หรือชนชั้นทางสังคมซึ่งพวกคุณหาอ่านได้ที่งานชิ้นอื่น 

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำถามดีๆ สักหนึ่งข้อคงเป็น เกิดอะไรขึ้นกับ 'เสือสยาม' ซึ่งบทความชิ้นนี้จะพากลับไปดูเศรษฐกิจในรอบ 12 ปีของชาติไทย พร้อมหาคำตอบให้ได้ว่าหมากตัวไหนที่เดินผิดเพี้ยน


(เสือ)สิ้นลาย

เครื่องมือที่นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาขึ้นมาประเมินว่าเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งเติบโตหรือตกต่ำมีชื่อย่อเป็นอักษรภาษาอังกฤษสามตัวคือ จี-ดี-พี ย่อมาจากคำว่า gross domestic product หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

หากมองย้อนกลับไปจากปัจจุบัน หนึ่งปีให้หลังวิกฤตการเงินโลกอาจนับเป็นจุดเริ่มของ 12 ปี แห่งการเดินทางมาสู่จุด 'เสื้อสิ้นลาย' ของประเทศไทย ทว่าการมองให้ครบถ้วนอาจต้องอ้างอิงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้นเล็กน้อย 

ระหว่างปี 2550-2559 จีดีพีรายปีของไทยโตเฉลี่ย 3.2% ไม่เพียงว่าตัวเลขนี้สะท้อนความอ่อนแอเกือบต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ชนะแค่เพียงบรูไนฯ เท่านั้น) นี่ยังเป็นตัวเลขที่เทียบไม่ได้กับ 'ยุคมหัศจรรย์' หรือทศวรรษก่อนเกิดวิกฤตการเงินเอเชียระหว่างปี 2530-2539 ที่เศรษฐกิจของไทยโตเฉลี่ย 9.3% 

ขณะที่ตัวเลขของปี 2560-2561 อยู่ที่ราว 4% ก่อนหดลงมาเป็น 2.4% ในปีถัดมา และดิ่งพสุธา ติดลบ 6% จากอิทธิพลของโควิด-19 ผสมผสานกับแผนบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19

ประมาณการจีดีพีในอนาคตของไทย 6 ปีต่อจากนี้ ต่ำกว่าความคาดหวังจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระดับ 5% แทบทั้งสิ้น สิ่งนี้ไม่ได้หมายถึงศักยภาพของประเทศโดยรวมโตไม่ได้เท่านั้น แต่ยังกระทบเป้าหมายที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยที่สุด 40% (Bottom 40) ล่างของสังคม มีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น 

ในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ที่สังคมไทยมีเศรษฐกิจเติบโตราว 2.4% ประชากรกลุ่ม Bottom 40 มีรายได้เฉลี่ย คนละ 3,721 บาท/เดือน ปรับเพิ่มขึ้น 9.2% จากตัวเลข 3,408 บาท/เดือน ในปี 2560 เมื่อนำข้อมูลข้างต้นไปเทียบกับประมาณการเศรษฐกิจไทยในอนาคต ถนนเส้นนี้ยังไกลเหลือเกินว่าพวกเขาจะก้าวเข้าสู่ค่าแรงขั้นต่ำ 15,000 บาท/เดือน 


โทษ 'ใคร' หรือ 'อะไร'

ในบทความชื่อ 'เศรษฐกิจไทย: ทศวรรษที่สูญหายจริงหรือไม่?' จากกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขาเถียงว่า จริงอยู่ที่ปัจจัยภายนอกอย่างวิกฤตเศรษฐกิจ และตัวแปรสำคัญอย่างความไม่แน่นอนทางการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย 

ทว่ารากของปัญหาที่หยั่งลึกลงไปมีทั้งผลิตภาพที่ขาดการพัฒนา, สินค้าส่งออกล้าสมัย, สังคมสูงวัย, ระบบการศึกษาไร้ประสิทธิภาพ ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำ - ปัญหาโครงสร้างแทบทุกอย่างที่ถูกละเลยตลอดมา 

บทความนี้แบ่งเศรษฐกิจไทยในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาออกเป็นสองช่วงคือ ก่อนวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) และช่วงหลังวิกฤตดังกล่าว ซึ่งเป็นยุคที่ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า ประเทศจะเดินหน้าออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไร หากเศรษฐกิจไม่เติบโตต่อไป 

กฤษฎ์เลิศ ชี้ว่า กับดักที่ไทยออกไม่ได้ทุกวันนี้เป็นเพราะประเทศยังคงใช้กลยุทธ์เดินหมากเศรษฐกิจแบบเดิมกับยุครุ่งเรืองทั้งๆ ที่สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

ขณะเดียวกัน ประเทศยังคงพยายามผลักดันตัวเองให้เติบโตด้วยวิธีเดิมๆ ต่อไป โดยไม่ได้สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง 

"เราเคยเชื่อว่า มีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นไร ขอแค่คนมีเงินก็พอ" มณเฑียร สติมานนท์ ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว ทว่างานวิจัยใหม่ๆ มากมายสะท้อนชัดว่ายิ่งประเทศมีความเหลื่อมล้ำ ความยากจนยิ่งจะกลับมา

อีกทั้งความเหลื่อมล้ำเอง ไม่ได้มีแค่ในมิติของรายได้ แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โอกาสในชีวิต และการเลื่อนขั้นทางสังคม เมื่อประชากรจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ ประเทศจะคาดหวังให้มีแรงงานที่คุณภาพ เพื่อมาพัฒนาเศรษฐกิจของชาติได้อย่างไร - ยังไม่ต้องคิดจะไปสู่กับประเทศอื่นด้วยซ้ำ

ปัญหาที่กฤษฎ์เลิศแย้งว่าเป็นรากลึกของการไม่ก้าวหน้า แม้จะไม่ใช่ประเด็นการเมืองโดยตรงแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองอย่างเถียงไม่ได้ 

7 ปีที่ผ่านมา แม้หลักฐานเชิงสถิติจะเป็นที่ประจักษ์แจ้งต่อสายตาประชาชนมากเพียงใดว่าประเทศไม่ได้เดินหน้าอย่างที่ควร และผู้คนจ่ายค่าเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยเพียงใด ทว่า 'ผู้นำ' ก็ยังคงเชื่อมั่นว่าตนเองทำงานหนักและทำทุกอย่างได้ดีแล้ว 

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป คนไทยอาจไม่ต้องรอถึงอีกสิบปีข้างหน้าเพื่อซึมซับว่าพวกเขาถูกปล้นโอกาสในการเติบโตในชั่วชีวิตนี้ไปมากเพียงใด