"เราเคยเชื่อว่า มีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นไร ขอแค่คนมีเงินก็พอ" มณเฑียร สติมานนท์
อดีตที่ผ่านมา บรรดาผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยในหลายประเทศทั่วโลก มีความเชื่อร่วมกันว่าการกำจัดความยากจนคือเป้าหมายสูงสุด - ฟังเผินๆ ดูเข้าท่า แต่มันติดปัญหาที่พวกเขาดันเชื่อว่าสิ่งนี้มีน้ำหนักกว่า 'ความเหลื่อมล้ำ' เสียได้
พวกเขายอมให้แรงงานเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำเพื่อแลกกับรายได้ที่สูงขึ้น - และมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะได้รับอิทธิพลมาจากสมมติฐานของนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลชาวอเมริกันเชื้อสายยิว อย่าง 'ไซมอน คุซเนตส์' (Simon Kuznets)
สมมติฐานของเขา ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อว่า 'สมมติฐานคุซเนตส์' (Kuznets Hypothesis) ระบุว่า เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวและรายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้น ในระยะแรกนั้นความเหลื่อมล้ำที่วัดโดยสัมประสิทธิ์จีนีจะเพิ่มสูงขึ้น หรือแปลง่ายๆ ว่าสังคมจะมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวของประชากรที่สูงไปถึง 'จุดหนึ่ง' จะส่งให้ความเหลื่อมล้ำค่อยๆ ลดลง ทำให้กราฟอธิบายสมมติฐานดังกล่าวเป็นรูปตัวยูคว่ำ (inverted-U shape)
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเข้าใจจากสมมติฐานนี้คือ สภาพเศรษฐกิจที่คุซเนตส์อธิบาย ในช่วงต้นของกราฟเป็นการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรม (จากเศรษฐกิจเดิมไปสู่เศรษฐกิจใหม่) ระยะนี้ การเปลี่ยนถ่ายแรงงานยังไม่สมบูรณ์จึงทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางรายได้สูง เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจผ่านเข้าสู่ช่วง 'หลังอุตสาหกรรม' หรือหันไปเน้นที่เศรษฐกิจในภาคบริการแทน ความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง
ในสัมมนาวิชาการด้านเศรษฐกิจ ภายใต้ชื่อ "ก้าวต่อไปเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน" ผศ.มณเฑียร สติมานนท์ จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงความเชื่อเรื่องกราฟตัวยูข้างต้น
สำหรับประเทศไทย แม้เศรษฐกิจจะเติบโตดีขึ้นหลังยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ และตัวเลขคนยากจนลดลง (ซึ่งวัดจากรายได้เฉลี่ยต่อหัว) แต่ความเหลื่อมล้ำกลับไม่ได้ลดลงเลย ทั้งยังกลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนที่จนอยู่แล้วจนลงไปอีกด้วยซ้ำ
วิจัยอีกชิ้นของ 'ภารวี มณีจักร' ที่ศึกษาว่าสมมติฐานของคุซเนตส์เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยหรือไม่ตลอดสองทศวรรษ (2536-2558) ที่ผ่านมา ตอกย้ำประเด็นข้างต้นได้อย่างชัดเจน
งานศึกษาพบว่า หากความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนไทยเพิ่มขึ้นเพียง 1% เท่านั้น จะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตกลงถึง 6.9812%
ในสภาวะที่เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ประชากรในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุดของสังคมถูกจำกัดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การขาดโอกาสในการเลื่อนขั้นทางสังคม เพราะคนเหล่านี้ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอในการลงทุนกับตนเอง อาทิ ผ่านการศึกษา
งานศึกษาของภารวียังพบว่า เมื่อแบ่งศึกษาสมมติฐานคุซเนตส์ตามแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย 'กรุงเทพมหานคร' ได้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเคยนำเสนอเอาไว้ - กราฟที่ได้ออกมาเป็นรูปตัวยูปกติแทน
ผลลัพธ์ของกรุงเทพมหานครในช่วงสองทศวรรษที่ทำการศึกษาพบว่า ในช่วงแรกที่รายได้ต่อหัวประชากรไม่เกิน 906.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ไตรมาส (ประมาณ 28,700 บาท/ไตรมาส) หากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น 1% จะส่งผลให้ระดับความเหลื่อมล้ำที่วัดจากสัมประสิทธิ์จีนีลดลงราว 0.05%
ทว่าเมื่อรายได้ต่อหัวของประชากรในกรุงเทพฯ เลยตัวเลขดังกล่าวไปแล้ว สถานการณ์กลับตาลปัตรทันที คือหากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น 1% ระดับความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้นถึง 0.07% แทน
ผู้วิจัยเชื่อว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกราฟเป็นรูปตัวยูคว่ำ เป็นเพราะ เมืองหลวงของไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญของประเทศ จึงดึงดูดให้ผู้คนจากหลากหลายชนชั้นทั้งมหาเศรษฐี, คนรวย, ชนชั้นกลาง และคนจนมาอยู่ด้วยกันท่ามกลางระดับรายได้ที่มีช่องว่าง
อีกทั้ง การเติบโตของเศรษฐกิจในเมืองหลวงแห่งนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของทุนมากกว่าแรงงาน เอื้อประโยชน์ให้ผู้มีทักษะมากกว่าผู้ด้อยทักษะ จึงเป็นที่มาว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น
วิจัยข้างต้นสะท้อนอย่างชัดเจนว่า การเลือกระหว่างลดความยากจนของคนด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่หนทางสู่ความมั่นคงและมั่งคั่ง
สำหรับประเด็นความยั่งยืนนั้น ผศ.มณเฑียร อธิบายว่า หากมองความยั่งยืนในมิติของปัญหาสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาภูมิอากาศได้
"ถ้าคนยังจนอยู่ เรามีสิทธิไปบอกเขาเหรอว่า ให้คนประหยัดเงิน ให้ใช้พลังงานสะอาดนะ" มณเฑียร สติมานนท์
การศึกษาทั้งหมดย่อมนำไปสู่คำถามสำคัญว่า สุดท้ายจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เช่นไร แบบที่ไม่ต้องมาเกี่ยงกันว่าจะลดความยากจน จะเน้นความยั่งยืน หรือจะแก้ความเหลื่อมล้ำ
ในรายงานความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ ของ ผศ.มณเฑียร เขาไปหยิบ 'เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน' (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติมาใช้
ปัจจุบัน SDGs ประกอบไปด้วย 17 เป้าหมายหลัก และจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย :
คำถามสำคัญของรายงานชิ้นนี้คือ หากรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องเลือกบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น ควรจะเลือกทุ่มเทสรรพกำลังไปที่เป้าหมายใดก่อนเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
การศึกษานี้แบ่งเป็น 2 ช่วง ซึ่งแบ่งตามปีศึกษา คือ ข้อค้นพบในปี 2562 และปี 2563 (ปีที่เกิดโควิด-19) ผลลัพธ์พบว่า จากทั้งสองปีนั้น การพัฒนาเป้าหมายที่ 3 ซึ่งว่าด้วยการสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัยถือเป็นเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด
ทั้งนี้ เป้าหมายต่อมาที่ผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำมากเป็นอันดับที่สอง จากผลในปี 2562 คือเป้าหมายที่ 4 ซึ่งว่าด้วยการสร้างสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขณะที่อันดับสองของปี 2563 กลับเป็นเป้าหมายที่ 9 ซึ่งว่าด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ ผลลัพธ์ในปี 2562 จากทั้ง 17 เป้าหมายนั้น เป้าหมายที่ 5 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิงมีน้ำหนักในการลดความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด
ทว่าในสภานการณ์วิกฤตโรคระบาด เป้าหมายที่ 5 กลับขึ้นมามีความสำคัญในอันดับที่ 8 และเป็นเป้าหมายที่ 14 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ที่ลงไปมีความสำคัญเป็นอันดับสุดท้ายแทน
ผศ.มณเฑียร ปิดท้ายในช่วงสรุปว่า เนื่องจากการศึกษานี้พบว่าการสร้างเสริมสุขภาพ สุขภาวะที่ดีอย่างทั่วถึงเป็นเป้าหมายที่เสริมกับการลดความเหลื่อมล้ำทั้งก่อนและระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นหากประเทศได้มีเป้าหมายในการพัฒนาอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและลดความเหลื่อมล้ำ การดำเนินการนโยบายทั่วไปที่ลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ มาตรการทางภาษี Universal Income และ Earned Income Tax Credit อาจนำมาใช้ได้
นอกจากนี้ แม้ไทยจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว แต่ประเทศยังสามารถปรับปรุงศักยภาพให้ดีกว่าเดิมได้โดยเฉพาะในประเด็นด้านการสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
การลงทุนและเพิ่มงบประมาณในหมวดดังกล่าวย่อมส่งเสริมให้ประเทศไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นและส่งเสริมให้เกิดพลวัตรในการพัฒนาที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในอนาคต โดยข้อเสนอนี้สอดคล้องกับงานศึกษาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยในอดีตอาทิ
แม้จะได้รับคำแนะนำเรื่องการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนและวิจัย แต่ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่า ณ ปี 2560 ประเทศไทยมีงบประมาณเพื่อประเด็นดังกล่าวเพียง 1.004% ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 2.145% ขณะเดียวกัน ตัวเลขผู้อยู่ใต้เส้นความยากจนของไทยก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และปัญหาความเหลื่อมล้ำยังมีแต่แนวโน้มที่จะเลวร้ายลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;