ไม่พบผลการค้นหา
'ดีน แอนด์ เดลูก้า' ปิดตัวหลายสาขาทั่วโลก หลัง 'เพซ' เผชิญปัญหาหนี้สินและการขาดทุนต่อเนื่อง

'ดีน แอนด์ เดลูก้า' เป็นเครือร้านอาหารสุดหรูที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2520 ใจกลางย่านแมนแฮตตัน ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดย 'จิออร์จิโอ เดลูก้า' และ 'โจเอล ดีน' ก่อนแบรนด์ข้ามไปเปิดตัวในต่างประเทศสาขาแรกที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2546 ปัจจุบันนี้ 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' มีมากกว่า 60 สาขาทั่วเอเชีย และอีก 3 สาขาในตะวันออกกลาง

ท่ามกลางความพยายามขยายตลาดในต่างประเทศ 'ดี แอนด์ เดลูก้า' ในสหรัฐฯ กลับกำลังเผชิญปัญหาหนัก และ 'บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)' หรือ PACE บริษัทบริหารแบรนด์ดังกล่าว ยังออกมาประกาศปิดร้าน 3 จาก 9 สาขาในสหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในนี้ คือร้านในแมนแฮตตันที่เพิ่งเปิดตัวได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น

ดีน & เดลูก้า

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก DEAN & DELUCA Thailand

นอกจากสถานการณ์ในสหรัฐฯ ที่ไม่ค่อยสู้ดีแล้ว 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' ประเทศไทย ก็ตัดสินใจปิดร้านที่สาขามหานคร คิวบ์ ซึ่งเปรียบเสมือนสาขาใหญ่ของประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า สัญญาเช่าสิ้นสุดลงและไม่มีการต่อสัญญาใหม่

หนี้สินล้นพ้นตัว

แม้การปิดตัวของสาขาในไทยจะได้รับคำอธิบายว่ามาจากสัญญาเช่าที่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ดูจะเป็นหนังคนละม้วน เพราะหลายหลักฐานต่างชี้ไปว่ามาจากปัญหาการไร้ความสามารถในการจ่ายหนี้ของบริษัท

ดีน

ผู้ค้ารายย่อยที่ขายสินค้าให้กับ 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' ในนครนิวยอร์กกล่าวว่า บริษัทค้างจ่ายหนี้ร้านค้าต่างๆ รวมกันกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.08 ล้านบาท

ในจำนวนดังกล่าวประกอบไปด้วย ยอดหนี้จำนวน 56,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.7 ล้านบาท ของ 'เบียน ควิท' ร้านเบเกอรี่ชื่อดังในบรูคลิน ส่วนอีกประมาณ 51,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.5 ล้านบาท ของร้าน 'เอมี่ส์ เบรด' และอีก 24,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 7.4 แสนบาท ของร้านขนมฝรั่งเศส 'โคลซอง พาทิสเซอรี' 

'เอเลนี เกียโนพูลอส' เจ้าของร้านเอเลนี คุกกี้ ผู้ฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ เป็นจำนวนเงิน 86,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.6 ล้านบาท ในช่วงปีที่แล้ว ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ร้านถูกปิดเพราะร้านค้าหลายๆ แห่งก็เติบโตมาพร้อมๆ กับ 'ดีน แอนด์ เดลูก้า'


"การได้เอาสินค้าเข้าไปขายเคยเป็นเรื่องน่าภูมิใจ เหมือนถูกหวย แต่ทุกวันนี้มันคือฝันร้าย" เอเลนี กล่าว

นอกจากนี้ 'เพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ' ยังติดหนี้ผู้ผลิตอีกหลายแห่ง เช่น อิมพีเรียล เดด (Imperial Dade), เดอะเชฟส์แวร์เฮาส์ (the Chefs’ Warehouse) และ เบาเดอร์ (Baldor) ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตเหล่านี้ยกเลิกการให้เงินเชื่อทางการค้ากับ 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' แล้ว

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานด้วยว่า 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' ติดหนี้ตลาดปลาฟูลตันเป็นเงิน 46,588.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท ตามยอด ณ วันที่ 4 มิถุนายน และบริษัทไม่ได้จ่ายเงินให้แก่ตลาดปลามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

ยิ่งใหญ่แต่ไปต่อไม่ไหว

ปัจจุบัน ร้าน 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' ทั่วโลก อยู่ภายใต้บริษัท 'เพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ' ประเทศไทย ซึ่งมี 'สรพจน์ เตชะไกรศรี' นั่งเป็นประธานของบริษัท

โดยที่ผ่านมาได้เข้าซื้อ 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' ในจำนวน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,300 ล้านบาท เมื่อ 2 ปีก่อนที่จะเปิดตัวตึกมหานคร ตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยและมีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงินของบริษัท

โดยหลังเปิดตัวใช้งานอาคารดังกล่าวได้ไม่นาน นายสรพจน์ ก็ตัดสินใจขายหุ้นในตึกมหานครให้กับบริษัทคิง เพาเวอร์ กรุ๊ป ในจำนวนเงิน 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท และปัจจุบันใช้ชื่อ 'คิง เพาเวอร์ มหานคร'

มมานคร

นอกจากนี้ ความพยายามในการใช้เงินเพื่อกระตุ้นยอดขายของแบรนด์ดูจะไม่ใช่การตัดสินใจที่ถูกต้องมากนัก เมื่อบริษัทตัดสินใจลงทุนตกแต่งภายในร้านค้าพร้อมจ้าง 'โอเล่ ชีเร็น' สถาปนิกชาวเยอรมันมาดูแลการตกแต่งภายในร้านที่กำลังจะเปิดใหม่ในย่าน 'สเตจ' (STAGE) ในสหรัฐฯ ที่ใช้งบประมาณหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในงานเปิดตัวร้านดังกล่าว แม้ 'เพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ' จะปฏิเสธเปิดเผยตัวเลขงบประมาณ แต่เมื่อสอบถามจากแหล่งข่าวด้านอสังหาริมทรัพย์ ค่าเช่าที่อย่างเดียวก็อยู่ที่เดือนละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.7 ล้านบาทแล้ว

เพียง 5 ปี ลดจำนวนร้านในสหรัฐจาก 40 แห่ง เหลือเพียง 6 แห่ง

ทั้งนี้ ตามข้อมูลระบุว่า 'เพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ' ซื้อ 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' เมื่อปี 2557 ขณะนั้นมีร้านสาขามากกว่า 40 แห่งในสหรัฐฯ และนายสรพจน์ ให้ความหวังว่าจะขยายให้ได้มากกว่า 100 สาขาทั่วโลก แต่ปัจจุบัน 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' เหลือเพียง 6 สาขา ในสหรัฐฯ เท่านั้น

ดีน & เดลูก้า

นายสรพจน์ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารนิกเกอิเอเชียนรีวิว ในปี 2560 ว่า การเข้าซื้อ 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์การเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่เป็นเพราะประวัติศาสตร์และชื่อเสียงที่สั่งสมมาของแบรนด์เป็นสิ่งที่มั่นคง ตราบเท่าที่ "คุณไม่ไปทำลายหัวใจของแบรนด์"

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ที่เคยมีชื่อเสียงถูกทำลายหัวใจสำคัญไปเรียบร้อยแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ในสหรัฐฯ 'ดีน แอนด์ เดลูก้า' ถอนตัวจากการเป็นสปอนเซอร์ให้หลายภาคส่วน ถูกฟ้องจากการขาดความสามารถในการใช้หนี้ และกำลังจมลงดั่งทรายดูดในวังวนหนี้สินของบริษัทเพซ ดีเวลลอปเมนท์

ในปี 2557 ที่ เพซ ดีเวลลอปเมท์ เข้าซื้อ 'ดี แอนด์ เดลูก้า' บริษัทมีรายได้ติดลบที่ 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 339 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการดำเนินการของบริษัทในปี 2561 ติดลบถึง 158 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,800 ล้านบาท

อีกทั้ง ตามข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตัวเลขรายได้ในช่วงไตรมาส 1/2562 ยังลดลงกว่าร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้บริษัทขาดทุนในไตรมาสแรกเป็นจำนวน 317 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของรายได้รวม ขณะที่หนี้สินรวมของบริษัท มีจำนวน 20,451 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 1 จากสิ้นปี 2561 

ไม่มีใครรู้ว่าบอร์ดบริหารของ เพซ ดีเวลลอปเมนท์ จะใช้วิธีไหนแก้ปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ แต่สิ่งที่รู้คือบริษัทจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และนายสรพจน์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จำเป็นต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง แม้การตัดสินใจนั้นจะหมายถึงการตระหนักถึงความเป็นจริงและปรับลดสิ่งที่บริษัทดูแลไม่ไหว

อ้างอิง; NYT, Pacedev, SET

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :