วันที่ 11 มี.ค. 67 ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ด้านทรัพยากรบุคคล และได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กล่าวถึงกรณี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. การทหาร สภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นไม่คัดค้านการตัดงบประมาณจัดซื้อเรือฟริเกตวงเงิน 1.7 หมื่นล้าน และกล่าวหาว่ารัฐบาลจะนำงบประมาณส่วนนี้ ตีเช็คเปล่าให้นายกรัฐมนตรีนั้น
ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า รู้สึกประหลาดใจกับท่าทีของ วิโรจน์และพรรคก้าวไกล ที่เปลี่ยนไปต่อการจัดสรรงบประมาณด้านการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ การกล่าวอ้างว่าการจัดซื้อเรือฟริเกตวงเงิน 1.7 หมื่นล้าน จะทำให้เกิดการจ้างงานมูลค่าหลักพันล้านบาท เกิดการเรียนรู้ทางวิศวะกรรมการต่อเรือ และ จะลดต้นทุนในการบำรุงรักษาในระยะยาว เป็นเพียงคำโฆษณาเลื่อนลอยไร้น้ำหนัก เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏ กองทัพเรือยังมิได้จัดทำ TOR เป็นเพียงเงือนไขที่กองทัพเรือจะเสนอต่อประเทศที่ยอมรับเงื่อนไขในการต่อเรือและจ้างงานในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีการระบุชัดเจน การที่ คณะกมธ.ฯ งบประมาณ ไม่อนุมัติงบเรื่องเรือฟริเกตจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเมื่ออนุมัติ จะมีผลผูกพันทันที 5 ปี และมีมูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาททันที
คำพูดของ วิโรจน์ จึงเป็นเพียงคำโฆษณาเลื่อนลอยไร้น้ำหนักเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล หาความชอบธรรมกับการไม่ปรับลดงบอาวุธกองทัพอันเป็นหลักการพรรคก้าวไกลยึดมั่นมาโดยตลอด
ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณ วิโรจน์ ที่ตั้งให้เหตุผลสนับสนุนการซื้อเรือฟริเกต อย่างน้อยๆ ในการพิจารณางบประมาณปี 68 หากเรือฟริเกตถูกนำมาสู่การพิจารณาอีกครั้ง คณะกมธ.งบประมาณจะได้มีข้อมูลรอบคอบ รอบด้านมากขึ้น
และอยากจะย้ำให้ วิโรจน์ เข้าใจหน้าที่ของคณะกมธ.งบประมาณ มีหน้าที่ต้องไตร่ตรองงบประมาณแผ่นดินให้คุ้มค่าภาษีประชาชน และ คณะกมธ.ฯ งบประมาณ ประกอบด้วยตัวแทนของทุกพรรคการเมืองเป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารแต่อย่างใด การตัดงบที่ไม่ชัดเจนในรายละเอียด จึงไม่ใช่เพื่อรัฐบาลแต่เพื่อพี่น้องประชาชน
"ฝากถึงพรรคก้าวไกล อย่ามัวแต่เล่นเกมการเมือง โยนความผิดทุกเรื่องให้รัฐบาล และอยากถามกลับ ถ้าวันนี้ คณะกมธ.งบประมาณปี 67 อนุมัติเรือฟริเกตผ่านโดยขาดความรัดกุม ในอนาคตหากเรือฟริเกตไม่สามารถเกิดการจ้างงาน หรือเกิดการถ่ายโอนทางเทคโนโลยีได้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ? รัฐบาลใช่หรือไม่? สุดท้ายฝ่ายค้านจะใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีรัฐบาลอยู่ดี เพิ่งเข้าใจบทบาทฝ่ายค้านสร้างสรรค์เป็นแบบนี้นี่เอง" ลิณธิภรณ์ กล่าว