นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม ไม่ยอมเปิดเผยคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. และไม่ประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาด้วยนั้น สะท้อนถึงเจตนาไม่สุจริตและใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมในการสรรหา ส.ว. อีกทั้งประกาศรายชื่อ ส.ว. 250 คน ก็เลยเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งและต้องเป็นโมฆะ นอกจากนี้ยังพบว่านายวิษณุ พยายามจะแก้ปัญหาความล่าช้าและความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษา เนื่องจากตรากฏหมายแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติไม่ทัน จึงแก้ผ้าเอาหน้ารอดโดยเลี่ยงไปออกเป็นพระราชกำหนดมาบังคับใช้โดยเร็วไม่ต้องผ่าน สนช. แต่สุดท้ายกระทรวงศึกษาฯ ทักท้วงว่าองค์กรวิชาชีพครูหลายแห่งต่อต้านเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่มีการแจ้งเปลี่ยนชื่อ 'ผู้อำนวยการโรงเรียน' เป็น 'ครูใหญ่' เปลี่ยนจากการออกใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู ให้ ครม. มีมติเมื่อ 7 พฤษภาคม 2562 ให้ชะลอการออก พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติไปเป็นรัฐบาลหน้า
นางลดาวัลลิ์กล่าวอีกว่า การกระทำของนายวิษณุปรากฏในเอกสารราชการระบุว่าในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 นายวิษณุเสนอว่าร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษาซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและแนวทาง บริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต โดยมีความเชื่อมโยงกับร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมซึ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วจึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องตราเป็นพระราชกำหนดตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ครม. พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายวิษณุเสนอ ซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ว่าด้วยเงื่อนไขการออก พ.ร.ก. ว่า "ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือป้องกันภัยพิบัติพระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้"
นางลดาวัลลิ์กล่าวในตอนท้ายว่า การออก พ.ร.ก. การศึกษาแห่งชาติ ไม่เข้าเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ หากยังขืนกระทำก็เท่ากับสุ่มเสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า นายวิษณุกำลังดำเนินการที่จะทำให้ ครม. พลเอกประยุทธ์ โดนโจมตีและถูกกล่าวหาว่ากระทำในสิ่งที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ เหมือนกับกรณีการปกปิดคำสั่ง คสช. เรื่องการแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงว่าน่าจะนำไปสู่การโมฆะ ของ ส.ว. สรรหาและกระทบไปถึงการโหวตให้ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ ด้วย