ไม่พบผลการค้นหา
หนึ่งปีหลังกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน มีคู่รักเข้าสู่ประตูวิวาห์แล้วกว่า 5,420 คู่ พร้อมเม็ดเงินในธุรกิจงานแต่งที่อาจสูงถึง 170 ล้านดอลลาร์ฯ และคาดว่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคต

หนึ่งปีหลังการแก้กฎหมายจดทะเบียนสมรสในออสเตรเลีย ซึ่งทำให้วันที่ 9 ธันวาคม 2017 เป็นวันแรกที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถแจ้งความจำนงสมรสได้

สำนักข่าว SBS ในประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า นับตั้งแต่มีการผ่านกฎหมาย มีคู่รักเพศเดียวกันสมรสแล้วกว่า 5,420 คู่ เฉลี่ยแล้วสัปดาหห์ละกว่า 100 คู่ ซึ่งแม้จะดูไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศที่ผ่านกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันในเวลาใก้ลเคียงอย่างเยอรมนี ที่มีคู่รักเพศเดียวกันสมรสแล้วกว่าหมื่นคู่ แต่หากคิดตามสัดส่วนจำนวนประชากร ซึ่งประเทศออสเตรเลียมี 24 ล้านคน ส่วนประเทศเยอรมนีมี 82 ล้านคน ก็ต้องบอกว่าประเทศออสเตรเลียมีสัดส่วนคู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสสูง

ในปี 2017 ประเทศออสเตรเลีย มีการจดทะเบียนสมรสทั้งหมด 112,954 ครั้ง ลดลง 4.6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 5,447 คน จากปีก่อนหน้า การแต่งงานของคู่สมรสเพศเดียวกันจึงอาจเรียกได้ว่าเข้ามาแทนที่ส่วนต่างนี้ ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

จากผลสำรวจของอีซีเว็ดดิงส์ (Easy Weddings) บริษัทผู้ให้บริการด้านงานแต่ง ซึ่งเก็บข้อมูลจากชาวออสเตรเลียกว่า 3,300 คน ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ปี 2017 พบว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในงานแต่งเฉลี่ยของชาวออสเตรเลียนั้นอยู่ที่ 31,368 ดอลลาร์ออสเตรเลีย จำนวนคู่สมรสเพศเดียวกัน 5,420 คู่ จึงอาจคิดเป็นปริมาณเงินในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานวิวาห์ ถึง 170 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นเงินไทยเกือบ 3,800 ล้านบาท

affection-celebration-close-up-1800991.jpg

เมลิสซา ซอนซีนี (Melissa Soncini) ผู้ประกอบพิธีสมรสเล่าว่าในปี 2018 เธอทำพิธีวิวาห์ไปกว่า 120 งาน และพบคู่สมรสเพศเดียวกัน 19 คู่ แต่เธอคาดว่าจะมีคู่สมรสเพศเดียวกันมาทำพิธีอีกมากในอนาคต เนื่องจากการวางแผนแต่งงานต้องใช้เวลา และการจะจองสถานที่จัดงานดีๆ ในวันเสาร์ที่มีจำกัดก็มีคิวแน่นเป็นปี

แฟรงก์ ฟาร์รูเจีย (Frank Farrugia) ช่างภาพงานแต่ง กล่าวว่า การผ่านกฎหมายนี้ทำให้คู่รักตื่นเต้นกันเป็นอย่างมาก เขาเล่าว่ามีการจองคิวถ่ายงานแต่งมากขึ้นราวครึ่งหนึ่ง และถูกจองคิวในปี 2019 เต็มไปแล้วกว่าครึ่ง อีกทั้งยังมีคิวในปี 2020 เข้ามาบ้างแล้ว โดยส่วนหนึ่งเป็นคู่รักเพศเดียวกันชาวต่างประเทศที่ต้องการจัดพิธีแต่งงานได้อย่างเปิดเผย

“จนถึงตอนนี้ มีทั้งคู่รักในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และเกาหลีติดต่อผมมา พวกเขามายังซิดนีย์ จัดพิธีร่วมกับครอบครัว และเพื่อนๆ ที่เดินทางมาฉลองให้งานแต่งของพวกเขา”

หลังกฎหมายคู่รักเพศเดียวกันได้รับการอนุมัติ ��าวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเดินทางไปยังออสเตรเลีย เพื่อจัดพิธีวิวาห์ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงศิลปินชาวไทยที่เป็นที่รู้จักอย่าง เบน ชลาทิศ

สำหรับในส่วนของคู่สมรสเพศเดียวกันชาวเอสเตรเลียนั้น คาดว่าความเป็นจริงมีจำนวนมากกว่าข้อมูลที่เปิดเผย เนื่องจากแบบฟอร์มแจ้งความจำนงเพื่อการสมรส (Notice of Intended Marriage) ของออสเตรเลียจะต้องเลือกระบุเพศจาก 3 ตัวเลือก คือ เพศชาย เพศหญิง และ X (ไม่ประสงค์จะระบุเป็นทั้งหญิงและชาย) และตัวเลขการจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกันนั้นก็นับเพียงคู่ที่ระบุว่าเป็นเพศชายทั้งคู่ หรือเพศหญิงทั้งคู่เท่านั้น ไม่นับรวมคู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เลือกจะระบุเพศ

นอกจากนี้ ในปี 2016 สำมะโนประชากรและเคหะออสเตรเลีย พบว่ามีคู่รักเพศเดียวกันที่อาศัยอยู่ด้วยกันในออสเตรเลียถึง 46,800 คู่ คิดเป็น 0.9 เปอร์เซ็นต์ของปคู่รักทั้งหมดที่อาศัยอยู่ด้วยกันในประเทศ ตลาดงานวิวาห์ในออสเตรเลียจึงยังมีศักยภาพที่จะโตได้อีกมาก

ในส่วนของข้อมูลด้านประชากรของคู่สมรสนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian Bureau of Statistics) เองก็ได้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องว่าในช่วงครึ่งปีตั้งแต่กฎหมายสมรสเพศเดียวกันมีผล คือระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2017 ถึง 30 มิถุนายน 2018 มีการจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน 3,149 งาน โดยพบว่ามีคู่รักเพศเดียวกันที่เป็นคู่รักเพศหญิง 56.3 เปอร์เซ็นต์ (1,773 คู่) และ 43.7 เปอร์เซ็นต์เป็นคู่รักเพศชาย (1,376 คู่) และมีค่ามัธยฐานอายุของคู่รักเพศหญิงอยู่ที่ 39 ปี ส่วนคู่รักเพศชายนั้นอยู่ที่ 48.5 ปี โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งคู่รักเพศชายและหญิงไม่เคยแต่งงานมาก่อน อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าผู้มีคู่รักเพศเดียวกันเลือกแต่งงานเมื่อมีอายุมาก เนื่องจากยังเป็นช่วงปีแรกที่กฎหมายอนุญาต จึงอาจมีคู่รักแต่เดิมที่รอแต่งงานหลังรัฐบาลผ่านกฎหมายฉบับนี้

สำหรับข้อมูลการจดทะเบียนสมรสทั้งหมดในปี 2018 นั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียแจ้งว่าจะเปิดเผยในเดือนพฤศจิกายนปี 2019

อ้างอิง:

On Being
198Article
0Video
0Blog