ไม่พบผลการค้นหา
'โรม' อภิปรายชำแหละงบฯ ศาล รธน. ยกเงินเดือนตุลาการสูงกว่านายกฯ ชี้เงินเดือนคณะสนับสนุนงานตุลาการ 9 คนใน 1 ปีต้องใช้งบฯ 28 ล้านบาท จวกเปิดหลักสูตร นธป. สร้างเครือข่ายหวั่นละเมิดมาตรฐานจริยธรรม ด้านเลขาธิการศาล รธน. แจงหลังยึดอำนาจ คำสั่ง คสช. ไม่กระทบความเป็นกลางของศาล รธน. ย้ำทุกศาลต้องได้รับการคุ้มครองปมละเมิดอำนาจศาล

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระรับทราบรายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า งบประมาณสำหรับบุคคลากรของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในปีงบประมาณ 2560 เป็นค่าใช้จ่ายค่าตอบแทนคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและคณะสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะตุลาการ 45,042,700 บาท คิดเป็นร้อยละ 18.21 ของทั้งหมด แบ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานได้รับ 138,090 บาทต่อเดือน ตุลาการได้รับ 131,920 บาทต่อเดือน มีข้อสังเกตว่าเงินเดือนของตุลาการฯ สูงกว่าเงินเดือนของนายกรัฐมนตรีที่ 125,590 บาทต่อเดือนเสียอีก 

ส่วนตำแหน่งคณะสนับสนุนการปฏิบัติงานของตุลาการ ที่ปรึกษาประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนละ 1 อัตรา เงินเดือน 69,910 บาท ผู้เชี่ยวชาญประจำประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนละ 3 อัตรา เงินเดือน 33,000 บาท เลขานุการประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนละ 1 อัตรา เงินเดือน 51,810 บาท ผู้ช่วยเลขานุการประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนละ 2 อัตรา เงินเดือน 20,900 บาท

ตุลาการ 1 คน มีที่ปรึกษา 1 อัตรา ผู้เชี่ยวชาญ 3 อัตรา เลขานุการ 1 อัตรา ผู้ช่วยเลขานุการ 2 อัตรา รวมเงินเดือนผู้สนับสนุนฯ ทั้งหมด 262,520 บาท รวมทุกตำแหน่งของผู้สนับสนุนฯ ของตุลาการทั้ง 9 คน ใน 1 ปี ทั้งหมด 28,352,160 บาท

"แม้บางท่านอาจกล่าวว่า ส.ส. เองก็มีผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานจำนวนมาก แต่เมื่อลองเปรียบเทียบกัน รวมเงินเดือนผู้สนับสนุน ส.ส. ทั้งหมด 129,000 บาท เป็นเพียงครึ่งเดียวของผู้สนับสนุนฯ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งที่งานของ ส.ส. เป็นงานเชิงรุกที่ต้องติดต่อกับพี่น้องประชาชนตลอดเวลา" นายรังสิมันต์ ระบุ

ชี้ศาลยุติธรรม - ศาลปกครองไม่เปิดตำแหน่งผู้สนับสนุนตุลาการ

นายรังสิมันต์ระบุว่า ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ศาลยุติธรรมและศาลปกครองไม่มีตำแหน่งผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานประจำตัวตุลาการแบบที่ศาลรัฐธรรมนูญมี ทั้งสองศาลนี้อาศัยการสนับสนุนการปฏิบัติงานจากบุคลากรในสำนักงานศาลของแต่ละศาลเท่านั้น ดังนั้นตนเห็นว่าควรปรับลดจำนวนหรือจำนวนเงินสนับสนุนตำแหน่งผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานของตุลาการดังกล่าว หรือยกเลิกตำแหน่งเหล่านี้เสีย แล้วให้ใช้การสนับสนุนการปฏิบัติงานจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้หลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (นธป.) ก็อาจกลายเป็นการสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ระหว่างบุคลากรจากองค์กรตุลาการ มีบุคคลระดับสูงจากทั้งหน่วยงานรัฐอย่างตำรวจ ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา องค์กรอิสระ และหน่วยงานเอกชน ตลอดจนฝ่ายการเมือง เช่นรองนายกฯ สมาชิก สนช. จึงอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นกลางตามมาตรฐานจริยธรรมหลายข้อ 

จึงอยากให้มีการปรับหลักสูตรให้มีความเป็นอิสระและความเป็นกลางของผู้เข้าอบรมหรือหากทำไม่ได้ก็ควรยกเลิก ยกตัวอย่างเช่น สมมติการจัดอบรมโดยนำผู้พิพากษา นักธุรกิจ ผู้นำเหล่าทัพ มารวมกัน แล้ววันหนึ่ง ผู้นำเหล่าทัพสักคนหนึ่งที่ร่วมอบรมได้ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ร่วมอบรมในหลักสูตรเดียวกันจะยังคงมีความเป็นกลางในกรณีดังกล่าวหรือไม่

เลขาฯ ศาล รธน.แจงทุกศาลต้องได้รับคุ้มครองปมละเมิดอำนาจ

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า กรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ไม่เห็นด้วยกับการคุ้มครองการละเมิดอำนาจศาล ขอเรียนว่า การคุ้มครองนั้นมีเจตนารมณ์สองด้าน คือ คุ้มครองความสงบเรียบร้อยการพิจารณา และคุ้มครองคุณธรรมกฎหมายที่ศาลใช้พิจารณา ซึ่งครอบคลุมทั้งในห้องพิจารณาและผลการวินิจฉัยของศาล ซึ่งการวิจารณ์ศาล ก็ถือว่าอยู่ในข่ายที่ต้องควบคุมและคุ้มครอง เป็นสองด้านของเหรียญเดียว 

ส่วนที่บอกว่าควรใช้อดทนอดกลั้นแทนการคุ้มครอง จากประสบการณ์ 20 ปี ภาพในทางร้ายทางดี ได้นำไว้ไปในพิพิธภัณฑ์ของศาลตลอดมา เป็นที่เรียนรู้และพัฒนาการการรับผิดชอบรัฐธรรมนูญ เป็นหลักการดำรงนิติธรรมของบ้านเมือง การคุ้มครองการละเมิดอำนาจศาลตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงเป็นไปตามเหตุผลตามประสบการณ์ศาลและหลักวิชาการที่ทุกศาลย่อมได้รับการคุ้มครอง 

"กรณีที่ท่านเคยให้ความเห็นทางวิชาการของศาล โดยไม่เคยถูกฟ้องร้องนั้น การคุ้มครองตามหลักวิชาการ สุจริต จะได้รับความคุ้มครอง ต้องไม่เสียดสี หยาบคาย โดยการคุ้มครองนั้น ก็มีทั้งการตักเตือน หรือให้พ้นจากเขตอำนาจ แต่อีกส่วนก็มีเรื่องทางอาญาประกอบกันด้วย ตามที่สำนักงานศาลฯ เคยเผยแพร่ข่าว" นายเชาวนะ ระบุ

สำหรับที่มองว่าตุลาการศาลฯ ไม่ยึดโยงอำนาจประชาชน แล้วใช้อำนาจไปยังองค์กรที่มีอำนาจยึดโยงประชาชนนั้น อาจเปรียบเทียบได้ 2 ตัวแบบ คือ หลักตรวจสอบถ่วงดุลกันเองควบคุมกันแต่ละองค์กรก็จะเป็นอีกรูปแบบ แต่หลักการยึดความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผ่านกลไกศาลรัฐธรรมนูญนั้น จึงต้องแยกความเป็นอิสระและความเป็นกลาง จากความพัวพันขององค์กรการเมือง การไม่ยึดโยงกับประชาชนนั้น ศาลต้องดำรงความเป็นอิสระ เป็นกลาง และยึดถือรัฐธรรมนูญสูงสุด

แจงหลังยึดอำนาจ คำสั่ง คสช. ไม่กระทบความเป็นกลางของศาล รธน.

นายเชาวนะชี้แจงถึงคดีที่ลดลงในปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร ว่า เป็นคดีทางการเมืองไม่ใช่คดีทั่วไป ในระหว่างเหตุการณ์พิเศษ จึงไม่มีข้อพิพาทมายังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มีคำสั่ง คสช.คุ้มครองสถานะของตุลาการฯ ยืนยันว่า จะไม่มีส่วนกับการทำให้ศาลเป็นกลาง หรือเป็นคุณเป็นโทษกับ คสช.แต่อย่างใด ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า มีการเชิญไปประชุมกับ คสช.กับทุกหน่วยงาน แต่ก่อนประชุม มีหนังสือมาแจ้งยกเลิก ไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปร่วมประชุมกับองค์กรอื่นๆ เพราะ คสช.เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตุลาการ จะไม่มีการเข้ามาควบคุมแทรกแซงใดๆ คสช.ตระหนักในความเคารพศาลรัฐธรรมนูญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง