ไม่พบผลการค้นหา
ศาล รธน. รับคำร้องชี้สถานะ 'ประยุทธ์' เป็น จนท.รัฐ แต่ไม่สั่งให้พักงาน เผยเหตุประธานสภาฯ ไม่ขอมาให้หยุดพักงาน พร้อมมีมติเสียงข้างมากรับคำร้องพรรคอนาคตใหม่กระทำการล้มล้างการปกครอง

วันนี้ (19 ก.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ร้อง ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ โดยศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า ส.ส.จำนวน 110 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาฯ ในฐานะผู้อร้ง ขอให้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม และมาตรา 82 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) แล้ว ศาลจึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบทราบ พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องเพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญยังเห็นว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง โดยเห็นว่า มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขไว้ว่าจะต้อง "ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง" ซึ่งตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องก็ไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องที่จะทำให้เกิดความเสียหายแต่ประการใด ประกอบกับผู้ร้องไม่ได้มีคำขอในส่วนนี้

ธนาธร ปิยบุตร อนาคตใหม่ ยกมือ ยุติการปฏิบัติหน้าที่

รับคำร้อง อนาคตใหม่ ล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณาคำร้องที่นายณฐพร โตประยูร ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียงเห็นว่า ผู้ร้องได้ใช้สิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสองแล้ว แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องทราบ ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้ง 4 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

นัดชี้ชะตา 4 รมต.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ 27 ส.ค.

อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสามว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขณะเป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช.คมนาคม และนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีที่ถือครองหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ โดยศาลได้นัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันอังคารที่ 27 ส.ค. เวลา 14.00 น. และหากคู่กรณีประสงค์จะยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นหนังสือให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง