ไม่พบผลการค้นหา
สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) เผยแพร่แถลงการณ์เรื่องจุดยืนของ สนท.ต่อการเลือกนายกฯ ชี้การลงมติของรัฐสภาไม่สง่างาม ไม่ยึดมั่น ปชต. เหตุ 'ประยุทธ์' มีพฤติกรรมล้มล้าง รัฐธรรมนูญ และ สว.ไม่ควรร่วมลงคะแนน

ภายหลังจากการลงมติในที่ประชุมสภาเพื่อออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นลง สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) มีความเศร้าใจเป็นอย่างยิ่งที่รัฐสภาได้ลงมติรับรองให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังจากที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้จากการรัฐประหารมาแล้วถึง 5 ปี ด้วยคะแนนเสียง 500 คะแนนต่อ 244 คะแนน สหภาพเห็นว่าการลงมติดังกล่าวของรัฐสภามีความไม่สง่างามดังต่อไปนี้

1. พลเอกประยุทธ์มีพฤติการณ์ล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตยจากการกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังมีพฤติการณ์ปล่อยปละให้เกิดการทุจริตในภาครัฐ และจงใจละเลยไม่ตรวจสอบการทุจริตที่คนใกล้ชิดของตนมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ถือว่าเป็นผู้มีความสุจริตเป็นประจักษ์ นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงเป็นผู้มีขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

2. พลเอกประยุทธ์ใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีละเมิดสิทธิ ปิดกั้นเสรีภาพ รวมถึงปล่อยปละให้มีการคุกคามนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนหลายกรณี อีกทั้งยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบอย่างพร่ำเพรื่อ จนทำลายหลักนิติรัฐและบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและกระบวนการนิติบัญญัติ นอกจากนี้ การใช้อำนาจออกคำสั่งตามตามมาตรา 44 ของพลเอกประยุทธ์ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นดินหลายครั้ง เช่น กรณีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ปิดเหมืองทองอัคราโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จนเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

3. การลงมติในครั้งนี้ให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภาร่วมลงคะแนนเสียงด้วย ทั้งที่ตามธรรมเนียมการปกครองระบอบประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภาไม่ควรมีส่วนร่วมลงคะแนนรับรองบุคคลใดดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะสมาชิกวุฒิสภานั้นมิได้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการอันมีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ผู้เป็นส่วนหนึ่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย ดังนั้น การที่สมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนรับรองพลเอกประยุทธ์นอกจากจะขัดต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นการกระทำอันมีลักษณะต่างตอบแทน

สหภาพเชื่อว่าการอภิปรายและลงมติในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการนำประเทศกลับเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยสากล สหภาพจึงขอแสดงจุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์และพวกในทุกวิถีทาง และขอสนับสนุนการดำเนินงานของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรค ตราบที่พรรคยังคงรักษาอุดมการณ์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจและมุ่งนำประชาธิปไตยคืนสู่ประเทศไทย

สหภาพมีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกวุฒิสภามิได้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยสากลโดยการลงคะแนนงดออกเสียง และขอประณามพรรคการเมืองที่เคยให้คำมั่นกับประชาชนว่าจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจ แต่กลับลงมติรับรองให้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวถือเป็นการหักหลังและไม่ให้เกียรติประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง สหภาพหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นจะยังรักษาสัญญาดังกล่าวโดยการร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจในภายหลัง

สหภาพยินดีร่วมมือและขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสกัดกั้นมิให้พลเอกประยุทธ์และพวกสืบทอดอำนาจของพวกตนได้สำเร็จ ทั้งนี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศชาติ ประชาชน และประชาธิปไตย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: