ไม่พบผลการค้นหา
คณะวิศวกรรมศาสตร์และแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกกำลังร่วมกับ เอไอเอส นำเทคโนโลยี 5G และ 4G เสริมศักยภาพหุ่นยนต์อัจฉริยะ เพื่อช่วยติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นครั้งแรกในไทย หวังช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์

ถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการนำหุ่นยนต์อัจฉริยะมาใช้ติดตามอาการกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์นี้มีคุณสมบัติเด่น คือทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแพทย์และกลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ป่วย ให้สามารถโต้ตอบสื่อสารกันได้แบบทันทีผ่านระบบ VDO Conference ด้วยภาพความละเอียดสูง ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรอง ประเมินความเสี่ยง ตลอดจนวินิจฉัยโรคเบื้องตันได้ ขณะเดียวกัน แพทย์และพยาบาลยังสามารถสั่งการทำงานหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล ทำให้ไม่ต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ถูกเฝ้าระวังด้วยตนเอง ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยหุ่นยนต์นี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพ (Vital sign) เช่น วัดความดัน วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดชีพจร วัดอุณหภูมิ และส่งต่อข้อมูลไปยังแพทย์เพื่อประเมินผลได้ทันทีอีกด้วย

AIS ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์เฝ้าระวังโควิด-19
  • หุ่นยนต์ดูแลเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบตั้งโต๊ะและแบบ Mobile Robot

หุ่นยนต์นี้ถูกคิดค้นและพัฒนาจากฝีมือคนไทย โดย ‘ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ’ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์ Regional Center of Robotics ‘ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์’ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญครบวงจรโรคหลอดเลือดสมอง และ ‘ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล’ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ ‘เอไอเอส’ ช่วยสนับสนุนในเรื่องเครือข่ายเทคโนโลยี 5G และ 4G ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งผ่านข้อมูลสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ป่วยโควิด-19 

AIS ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์เฝ้าระวังโควิด-19
  • หุ่นยนต์ช่วยให้แพทย์สามารถสื่อสารกับผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ผ่านระบบ VDO Conference

‘ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ’ เผยว่า แรกเริ่มหุ่นยนต์อัจฉริยะนี้ถูกพัฒนาเพื่อหวังยกระดับบริการทางการแพทย์ ให้แพทย์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยโดยไม่ต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้กัน ด้วยการรักษาและให้คำปรึกษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine เดิมมุ่งใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะนี้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและผู้สูงอายุเป็นหลัก จนกระทั่งมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และได้รับการสอบถามมาจาก ‘นพ.เขต ศรีประทักษ์’ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์โรงพยาบาลทรวงอกว่า มีนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่จะสามารถช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์และล่าม ลดการสัมผัสกับผู้ถูกเฝ้าระวังหรือผู้ติดเชื้อหรือไม่ จึงได้นำนวัตกรรมหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ที่มีอยู่มาปรับใช้ โดยหุ่นยนต์นี้ถูกพัฒนาเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบตั้งโต๊ะ และแบบ Mobile Robot ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ ปัจจุบันถูกนำไปใช้เฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วใน 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลทรวงอก โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 

ด้าน ‘นพ.เขต ศรีประทักษ์’ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์โรงพยาบาลทรวงอก เผยถึงผลลัพธ์ที่ได้หลังนำหุ่นยนต์อัจฉริยะนี้ไปใช้ว่า อย่างแรกคือมีผลทางใจต่อบุคลากรทางแพทย์ที่รู้สึกว่ามีเทคโนโลยีที่มาช่วยป้องกันตัวและช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ แม้ตอนแรกที่นำหุ่นยนต์มาใช้จะยังไม่เห็นภาพนัก แต่ตอนนี้เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากหรือชุด ก็ทำให้ชัดเจนว่าหุ่นยนต์สามารถเข้ามาช่วยได้ โดย ‘นพ.เขต’ ยังมองว่านอกจากหุ่นยนต์อัจฉริยะตัวนี้แล้ว เทคโนโลยีที่คิดว่าจำเป็นเร่งด่วนและน่าจะมีการพัฒนาเพื่อใช้รับมือโควิด-19 ในอนาคต ก็คือหุ่นยนต์ที่ช่วยแพทย์ทำงานในจุดเสี่ยง เช่นการเก็บตัวอย่างตรวจเป็นต้น

AIS ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์เฝ้าระวังโควิด-19

ขณะที่ ‘นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์’ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส ระบุว่าสำหรับโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ดูแลเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้จริงในการบริการทางแพทย์ โดยเทคโนโลยี 5G จากเอไอเอสมีบทบาทสำคัญในเรื่องการสื่อสารระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่ไม่ได้อยู่ใกล้กัน โดยเฉพาะการส่งข้อมูลภาพความละเอียดสูงจากกล้องที่หุ่นยนต์จับภาพคนไข้ไปยังแพทย์ เนื่องจากแพทย์จำเป็นต้องเห็นสีหน้าและอาการของคนไข้ที่ชัดเจน รวมถึงการส่งข้อมูลสัญญาณชีพที่ครบถ้วนเพื่อการวินิจฉัยประเมินอาการ โดยยังมองว่าการนำเทคโนโลยีสื่อสาร 5G มาช่วยในเรื่อง Telemedicine ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ว่า ก้าวต่อไปของเมืองไทยหน้าตาจะเป็นประมาณไหนหลังจากที่มีเทคโนโลยีสปีดสูงขึ้น ขณะเดียวกัน จากการพูดคุยกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ทราบว่ามีแผนจะพัฒนาหุ่นยนต์ในเฟสต่อไป เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปมาสแกนอุณหภูมิเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งต้องการข้อมูลจำนวนมากเพื่อส่งต่อกลับขึ้นไปยังแพทย์ โดยทางเอไอเอสก็พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยี 5G ในเฟสถัดไปนี้ 

ทั้งนี้ มีการตั้งเป้าผลิตหุ่นยนต์อัจฉริยะให้ได้ 50 ตัว ในช่วง 2-3 เดือนนี้ เพื่อตอบสนองโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมใหม่โดยเฉพาะ และยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านเครือข่ายสัญญาณ 5G ไปยังสถานพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มเติม