ไม่พบผลการค้นหา
กกต. ประกาศใช้ระเบียบเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว เขียนถ้อยคำให้บัตรเลือกตั้งให้มีเพียงหมายเลขผู้สมัคร ช่องทำเครื่องหมาย ช่องไม่ประสงค์ไม่ลงคะแนนเป็นอย่างน้อย ขณะที่ระเบียบเดิมกำหนดต้องมีชื่อพรรค - โลโก้พรรค โดยทนายวิญญัติ ชี้ กกต.อาจกำหนดให้มีแต่เบอร์ผู้สมัคร หวั่นทำสับสนตอนกาบัตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2561 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการเผยแพร่ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 ความยาว 212 หน้า อย่างเป็นทางการ มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดขั้นตอนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อการอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้ง และขั้นตอนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการออกไปใช้สิทธิ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ 'บัตรเลือกตั้ง' มีการเผยแพร่ 'ตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง' ในหน้า 72-74 ให้เห็นว่า บัตรเลือกตั้งจะมีข้อมูลของ 'โลโก้-ชื่อพรรคการเมือง' และหมายเลขผู้สมัครฯ ในบัตรเลือกตั้ง ให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งพิจารณาประกอบก่อนตัดสินใจลงคะแนนแล้ว 

หลังจากเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างฝ่ายพรรคการเมืองกับ กกต. ต่อเนื้อหาข้อมูลในบัตรเลือกตั้ง ที่เคยมีการเสนอให้ตัดโลโก้และชื่อพรรคการเมืองออก โดยให้มีหมายเลขผู้ลงสมัคร ส.ส.เพียงอย่างเดียว 

  • "ทนายวิญญัติ" งัดระเบียบ'54เทียบ ชี้ 3 ปม หวั่นโดนหั่น  

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง ที่มีทั้งโลโก้และชื่อพรรคการเมืองแล้ว ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า บัตรเลือกตั้ง อาจไม่ได้เป็นไปตามตัวอย่าง เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับ 'บัตรเลือกตั้ง' ในระเบียบการเลือกตั้งส.ส. 2561 นั้น แตกต่างจากระเบียบการเลือกตั้งส.ส. 2554 โดย นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตต่อกรณีดังกล่าว 3 ข้อ คือ 

1.ถ้อยคำที่กำหนด - ตามข้อ 119 (2561) บัตรเลือกตั้งอย่างน้อยมีลักษณะ ดังนี้ (2) ด้านในของบัตรเลือกตั้งให้มีคำอธิบายเกี่ยวกับการทำเครื่องหมาย หมายเลขผู้สมัคร ช่องทำเครื่องหมาย และช่องไม่เลือกผู้ใด ส่วน ข้อ 106 (2554) บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้มีลักษณะ ดังนี้ (2) ด้านในของบัตรเลือกตั้งอย่างน้อยให้มีช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ช่องทำเครื่องหมาย หมายเลขพรรคการเมือง ชื่อพรรคการเมือง ภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองและคำอธิบายเกี่ยวกับการทำเครื่องหมาย

2.เกณฑ์ที่ต้องมีในบัตรเลือกตั้ง - ตามข้อ 119 (2561) คำว่า 'อย่างน้อยมีลักษณะ' หมายความว่า ด้านในบัตรมีอย่างน้อยตามที่ระบุไว้ก็ได้ อาจไม่จำเป็นต้องมีมากกว่านี้ โดย คกก.ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าตามความข้อ 106(2554) คำว่า “บัตรเลือกตั้ง...ให้มีลักษณะ” หมายความว่า ด้านในบัตรต้องมีรายรายการตามที่ระบุไว้ในข้อ 106 (2)

3.ความแตกต่างของบัตรเลือกตั้งใหม่ อาจไม่มีทั้งชื่อพรรคการเมืองและภาพเครื่องหมาย พรรคการเมือง(โลโก้)ก็ได้ แต่จะเห็นว่าตามบัตรเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ต้องมีชื่อพรรคการเมืองและภาพเครื่องหมายพรรคการเมือง 

  • ดักคอลักไก่เปิดทางตัดชื่อ - โลโก้พรรคทิ้ง 

นายวิญญัติ ระบุด้วยว่า ประเด็นพิจารณา เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ มาตรา 48 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ระบุให้ผู้สมัครแต่ละพรรคมีเบอร์แตกต่างกันออกไปในแต่ละเขตเลือกตั้ง หากผู้สมัครของพรรคนั้นไม่ได้เบอร์เดียวกันกับพรรคการเมือง ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อพิจารณาตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ที่นำมาตั้งข้อสังเกตนี้ ถ้อยคำตาม ข้อ 119 ที่ระบุว่า “อย่างน้อยมีลักษณะ” ดังนั้น กกต. อาจกำหนดอย่างน้อยเพียงหมายเลขผู้สมัคร ปัญหาความสับสนย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แล้วผลตามมา คือ คะแนนเสียงที่จะได้รับแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็จะถูกบิดเบือนจา���ความเป็นจริงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั่นเอง

ในส่วนของระเบียบ กกต.2554 ที่บัตรเลือกตั้งต้องมีชื่อพรรคและโลโก้พรรคหากเป็นกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งกับพรรคการเมืองเดียวกัน มีเบอร์ในการลงคะแนนเบอร์เดียวกัน ไม่ว่าจะไปสมัครในเขตพื้นที่หรือจังหวัดใดก็ตาม ประชาชนก็จดจำได้ง่ายและไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน

"จึงมีคำถามว่า กกต. อีกหนึ่งองค์กรอิสระจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งได้เพียงใด หากในบัตรเลือกตั้ง ไม่มีชื่อพรรค และเครื่องหมายพรรค(โลโก้) มีรูปแบบเป็นสากล กกต.จะอำนวยการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรมได้อย่างไร?" #บัตรเลือกตั้งเป็นอีกอาวุธสำคัญที่จะทำลายระบอบเผด็จการ" นายวิญญัติ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง