ไม่พบผลการค้นหา
นักสิทธิมนุษยชนเสนอรัฐตั้ง คกก. พิสูจน์สิทธิที่ดินกะเหรี่ยงบางกลอย ชี้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตั้งแต่ยุคตราสามดวง ด้านชาวบ้านยืนยันการกลับบ้านเกิดเพราะลำบาก ไม่มีที่ดินทำกินและเผชิญโควิด - 19 ส่วนนักวิชาการขอทางการยืดหยุ่นและประนีประนอม ย้ำคนอยู่ร่วมกับป่าได้ วอนสังคมเลิกตีตราคนกะเหรี่ยงทางลบ

ความกังวลว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอาจใช้ความรุนแรง จับกุมและขับไล่ รวมถึงเผาทำลายที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่อพยพหนีความลำบากจากพื้นที่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจัดไว้ให้กลับไปที่ตั้งหมู่บ้านบรรพบุรุษครั้งล่าสุดยังมีต่อเนื่อง (คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม)

ทำให้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 นักสิทธิมนุษยชน ตัวแทนชาวบ้าน เครือข่ายพี่น้องกะเหรี่ยง นักการเมือง ร่วมเสวนาหาทางออกของปัญหาเรื่อง "จากกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์" จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC, ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา ม.รังสิต, ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส และ The Active


ตั้งคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิที่ดินอย่างจริงจัง

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนของรัฐ ตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการด้านนักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาและชาติพันธุ์ นักสิทธิมนุษยชน เพื่อตรวจสอบและกำหนดเขตพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยตามมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เห็นชอบเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเรื่อง หมู่บ้านใจแผ่นดินบางกลอยบนเป็นชุมชนดั้งเดิมก่อนรัฐประกาศเป็นเขตอุทยานฯ มากว่า 100 ปีแล้ว โดยมีหลักฐานปรากฏในแผนที่กรมแผนที่ทหาร ตั้งแต่ปี 2455

138559892_1083812278764518_6949611929169100596_n.jpg

“ผ่านมากว่า 10 ปียังไม่มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งที่มติ ครม. ถือว่าเป็นกฎหมายบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม นี่อาจเข้าข่ายขัดคำสั่งศาลปกครองสูงสุด” สุรพงษ์กล่าว

ส่วนกรณีว่าชาวบ้านมีเอกสารกรรมสิทธิ์ในที่ดินบริเวณนั้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันอย่างจริงจังอีกครั้งอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และระหว่างการพิสูจน์สิทธิก็ควรให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัย ทำกินบนที่ดินเดิมได้ต่อไป

“เพราะสิทธิในที่ดินที่ชาวบ้านอ้างนั้นมาจากกฎหมายที่ดินเก่าสมัยกฎหมายตราสามดวง ที่เคยระบุว่า ที่ไร่ ที่สวนใครให้เป็นคนของคนนั้นเป็นเจ้าของ นั้นหมายถึงว่าชาวบ้านก็ได้รับสิทธิในการอยู่อาศัย” สุรพงษ์กล่าว

TK-0800952-ThaiBorder-พรมแดน-ป่า-กะเหรี่ยง-ดอย

หมู่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมผู้นี้กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้กฎหมายตราสามดวงจะเป็นกฎหมายเก่าในรัชกาลที่ 1 ก่อนจะนำมาถูกปรับปรุงชำระเป็นกฎหมายอาญา หรือกฎหมายเพ่งในปัจจุบันก็ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายเก่าอย่างกฎหมายตราสามดวงไป 

“เท่ากับว่าชาวบ้านควรได้รับสิทธิอยู่ในที่ดินดั้งเดิมนั้นต่อ ส่วนจะตั้งคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิใหม่นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง” ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว


ต้องทำงานรับจ้างหาเงินซื้ออาหาร ยารักษาโรค

ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นอุทยานฯ ได้ย้ายชาวบ้านกลุ่มนี้จากหมู่บ้านดั้งเดิมลงมาอยู่ที่ที่อุทยานฯ ​จัดไว้ให้ ที่เรียกว่าบ้านบางกลอยล่าง เพราะอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกที่ป่าสงวนฯ ในเขตอุทยานฯ แต่ความเป็นอยู่ในที่ที่รัฐจัดให้นั้นสร้างความลำบากถึงขึ้นเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวบ้านไปอย่างมาก

อภิสิทธิ์ เจริญสุข ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เล่าว่า ชาวบ้านต้องอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน จำนวนหลายคน สภาพแออัด บางครอบครัวมีทั้งเด็ก คนชรา รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ 

139446953_1789429627897657_4389359297530915320_n.jpg

ภาพระหว่างการอพยพกลับหมู่บ้านใจแผ่นดินบางกลอยบน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ภาพโดย สำนักข่าวชายขอบ

อีกทั้งที่ดินทำกินที่ทางการจัดสรรให้นั้นไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกเพราะสภาพดินเป็นหิน และติดหน้าผา ระบบน้ำประปาก็ต้องใช้ระบบไฟฟ้าสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ บางวันไฟดับก็ไม่มีน้ำใช้ 

“ชาวบ้านเพาะปลูกไม่ได้ จะกินอะไรต้องใช้เงิน ต้องออกไปทำงานรับจ้างเพื่อหาเงินมาซื้อข้าวซื้ออาหารกิน รวมถึงซื้อยารักษาโรค แตกต่างจากข้างบน (หมู่บ้านดั้งเดิม) ไม่ต้องใช้เงิน ที่ดิน น้ำอุดมสมบูรณ์ และสามารถเข้าป่าหาอาหารได้” อภิสิทธิ์กล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านออกไปรับจ้างภายนอกหมู่บ้านไม่ได้ เพราะกลัวติดโรคระบาดและกลัวเป็นพาหะนำโรคเข้าสู่หมู่บ้าน อีกทั้งบางคนไม่มีสัญชาติไทยก็ไม่สามารถทำงานได้ ชาวบ้านเลยตัดสินใจกลับขึ้นไปที่ของบรรพบุรุษ​ที่อุดมสมบูรณ์

พฤ โอ่โดเชา ชาวกะเหรี่ยง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ แกนนำเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือที่ติดตามประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องกล่าวว่า แนวคิดที่อุทยานฯ ต้องการย้ายชาวบ้านไปที่ที่อุทยานฯ จัดให้ คือต้องการให้ชาวบ้านปลูกพืชผักขายแล้วนำเงินไปซื้อข้าวสาร ซื้ออาหารกิน ปัญหาคือบางครอบครัวปลูกผักได้ ก็ไม่มีตลาดรับซื้อ ทำให้ไม่มีรายได้ไปซื้อข้าวกิน 

“แตกต่างจากบางกลอยบนที่มีที่เพาะปลูกสามารถทำนา ทำไร่หมุนเวียน ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้จากธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และบางกลอยบนมีนา มีไร่ มีสวนผักหลังบ้าน อีกทั้งชาวบ้านสามารถเข้าไปหาอาหารในป่า รวมถึงเลี้ยงสัตว์ไว้กินได้” พฤกล่าว และเสริมว่า "เหตุผลที่ชาวบ้านอพยพขึ้นไปตอนนี้ ก็เพื่อไปเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวให้ทันฤดูฝน เพราะจะได้ข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน"

ปู่คออี้-บ้านบางกลอย-กะเหรี่ยง

"โคอิ มีมิ" หรือ "ปู่คออี้" (ผู้ล่วงลับไปเมื่อปี 2561) เขาคืออดีตพรานป่าแถบเทือกเขาตะนาวศรี และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หนึ่งในผู้ที่ถูกเผาบ้านซึ่งมีอายุเกินร้อยปี


คนกับป่าพึ่งพากัน

สำหรับ มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สัดส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ หนึ่งใน ส.ส. ที่รับเรื่องร้องเรียนเพื่อส่งเรื่องให้สภาฯ​ พิจารณาหาทางแก้ปัญหากล่าวว่า กรณีผลักดันชาวบ้านออกจากป่าด้วยข้ออ้างเพื่ออนุรักษ์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติสะท้อนความคิดการอนุรักษ์ที่ล้มเหลว เพราะมนุษย์กับป่าต่างพึ่งพากันและกันมาตลอด เพราะป่าสร้างอาหาร คนต้องดูแลป่า ควรให้ชนเผ่ามีสิทธิดูแลป่าได้

“สังคมชนเผ่าพื้นเมืองในป่าทั่วของโลก คนกับป่าต่างพึ่งพากันและกันมาตลอด” มานพกล่าว

นอกจากนี้ มานพมองว่า คนชนเผ่า ชาวพื้นเมืองที่อยู่ตามชายแดน เช่น ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงต่างก็เคยทำประโยชน์ให้กลับศูนย์อำนาจรัฐไทยมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ชนพื้นเมืองชายแดนเหล่านี้ต่างมีความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงของรัฐไทย เพราะพวกเขาจะเป็นคนสื่อสาร ด่านหน้าเฝ้าระวังภัยความมั่นคงชายแดนให้กับศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทย อีกทั้งยังเคยร่วมสร้างชาติ สร้างรัฐไทยเช่นกัน ดังนั้นไม่ควรละเลยหรือทอดทิ้งพวกเขาเหมือนกรณีนี้

“รัฐต้องดูแลเรื่องที่ดินทำกิน พัฒนาแหล่งผลิตอาหาร มีระบบชลประทานแหล่งน้ำ แล้วให้ชาวบ้านมีสิทธิจะกลับไปใช้ชีวิตตามวิถี วัฒนธรรมที่ดินแดนถิ่นเกิดตัวเองได้เช่นเดิม” มานพกล่าว


136462540_200711958450548_1985819745486112859_n.jpg

เลิกตีตราคนกะเหรี่ยงในทางลบ

กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติกับพี่น้องกะเหรี่ยงโดยการใช้ความรุนแรง ขับไล่ ทำลายที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน โดยอ้างว่าบุกรุกอุทยานฯ นั้น สำหรับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรมองว่าอาจมีปัญหามาจาก ภาพเหมารวมที่สังคมมองและจดจำคนชาวเขา คนชนเผ่าชาวกะเหรี่ยงในด้านลบว่า ตัดไม้ทำลายป่า เข้าเมืองผิดกฎหมาย ค้ายาเสพติด

“ภาพเหมารวมเหล่านี้ถูกสร้างมานานกว่า 30 - 50 ปีทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและสังคมบางส่วนจึงมีแนวคิดว่าคนเหล่านี้สร้างปัญหาให้ประเทศ สมควรถูกเจ้าหน้าที่จับกุม” นพ.โกมาตรกล่าว

นพ.โกมาตรอยากให้สังคมเลิกตีตราคนชนเผ่าพื้นเมืองในด้านลบ ควรมองพวกเขาในฐานะมนุษย์ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน 

“กรณีการอพยพครั้งนี้พวกเขามีเหตุผล เพราะพวกเขากำลังได้รับความลำบากจากโรคโควิด - 19 และลำบากในการหาอาหาร ทุกคนอยากกลับบ้านเพราะบ้านคือที่ที่ปลอดภัย การที่กลับไปก็เพื่อความอยู่รอดของพวกเขา ถ้าเป็นเราก็คงกลับไป เพราะเป็นที่ที่เราหาอาหารให้ลูกเราได้” นพ.โกมาตรกล่าว 

ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรผู้นี้เสนอทางแก้ปัญหานี้เฉพาะหน้า คือ ขอทางการยืดหยุ่นและประนีประนอมแก้ไขปัญหานี้ เพราะเขาต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่จิตวิญญาณ เมื่อพื้นที่เหล่านี้อยู่ในพื้นที่รัฐหรือเอกชน เราจะทำอย่างไรให้พวกเขาได้มีชีวิตอยู่ในจารีตประเพณีของเขา

**ภาพประกอบเนื้อจากสำนักข่าวชายขอบ