ต้นเดือนมกราคม 2564 ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจัดไว้ให้ตัดสินใจอพยพกลับไปที่หมู่บ้านดั้งเดิมในเขตอุทยานฯ หลังสถานการณ์โควิดที่ทำให้บางส่วนไร้อาชีพ-ขาดรายได้ และอีกส่วนใหญ่ไม่สามารถทำเกษตรในพื้นที่จัดสรรได้ เพราะสภาวะแห้งแล้ง แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และทหารกำลังเตรียมขับไล่เขาออกจากพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ
เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรีและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่ใช้วิธีการจับกุมดำเนินคดีหรือความรุนแรงเหมือนกับเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ที่มีการไล่รื้อ เผาทำลายบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยง
ต่อไปนี้คือ 5 เรื่องสำคัญจากป่าแก่งกระจานที่ผู้มีอำนาจรัฐอาจหลงลืม...
ปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ออกกวาดล้าง ผลักดันผู้บุกรุกป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเข้าค้นบ้านชาวกะเหรี่ยงบางกลอยดั้งเดิม บริเวณ "ป่าใหญ่ใจแผ่นดิน" สภาพหลังจากบุกค้น ปรากฏเป็นโศกนาฏกรรม ด้วยการเผาทำลายบ้านเรือนและยุ้งฉางข้าวของชาวบ้านเกือบร้อยหลัง โดยฝ่ายรัฐอ้างว่าเป็นชาวกะเหรี่ยงชนกลุ่มน้อยชายแดนไทย-เมียนมา เข้ามาบุกรุก แผ้วถาง อาศัยทำกินในเขตป่าสงวนฯ
แต่ความจริงแล้ว ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้เป็นคนไทยดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยงที่เกิดและอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาหลายร้อยปี มีหลักฐานปรากฏในแผนที่กรมแผนที่ทหาร ตั้งแต่ปี 2455 และพวกเขามีบัตรประจำตัวประชาชนไทย
การถูกต้อนอพยพชาวกะเหรี่ยงครั้งแรกเกิดขึ้นปี 2539 ทางอุทยานฯ ได้บังคับให้ชาวกะเหรี่ยงออกจากป่าใหญ่ใจแผ่นดินมาอยู่ที่ที่อุทยานฯ จัดไว้ให้ ซึ่งเรียกว่า ‘บ้านบางกลอยล่าง’ แต่รัฐไม่ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านตามที่สัญญา ชาวพยายามกลับไปอยู่พื้นที่เดิม (บางกลอยบน) เหตุการณ์บุกไล่รื้อและเผาทำลายจึงเกิดขึ้นดังกล่าว
หลักฐานที่ระบุชัดว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอาศัยอยู่ใน "ป่าใหญ่ใจแผ่นดิน" มานานกว่าร้อยปี คือ อายุของชายชรา ชื่อ "โคอิ มีมิ" หรือ "ปู่คออี้" (ผู้ล่วงลับไปเมื่อปี 2561) เขาคืออดีตพรานป่าแถบเทือกเขาตะนาวศรี และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หนึ่งในผู้ที่ถูกเผาบ้านซึ่งมีอายุเกินร้อยปี เท่ากับอายุของหมู่บ้าน
ปู่คออี้ยังเป็นแกนนำชาวบ้านในต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมและยืนยันสิทธิว่ามีชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ จนได้รับชัยชนะ เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าบ้านใจแผ่นดินและบางกลอยบนเป็นชุมชนดั้งเดิมจริง และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิชาวบ้าน ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อปี 2561
ปี 2557 เกิดเหตุสะเทือนขวัญในหมู่บ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบน คือการหายตัวไปอย่างลึกลับของ "พอละจี รักจงเจริญ" หรือ "บิลลี่" หลานชายของ "ปู่คออี้" ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
"บิลลี่" หายตัวไปหนึ่งเดือนก่อนที่จะขึ้นให้การเป็นพยานปากสำคัญให้กับศาลปกครอง กรณีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไล่รื้อ เผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยง เมื่อปี 2554 เพราะบิลลี่สามารถพูดและเขียนภาษาไทยได้ดี เขาเป็นล่ามแปลภาษาให้ชาวกะเหรี่ยง เก็บข้อมูล ประสานงาน จัดทำเอกสาร เพื่อยื่นฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
การสืบสวนทำให้พบว่า บิลลี่หายไปหลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งอ้างว่าเขาครอบครองน้ำผึ้งป่า แต่อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว และไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลยนานกว่า 6 ปี และชื่อ 'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในสมัยนั้น กูถูกจดจำ เพราะเขาเป็นหัวหน้าชุดจับกุมบิลลี่และเป็นคนที่อ้างว่าปล่อยบิลลี่ไป
การหายตัวไปของบิลลี่กลายการเป็นคดีพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตามสืบสวนสอบสวน จนในที่สุด วันที่ 3 กันยายน 2562 ดีเอสไอแถลงว่าพบกระดูกมนุษย์ใกล้ถังน้ำมันใต้สะพานแขวน ใกล้ที่ทำการอุทยานฯ โดยยืนยันว่ากระดูกที่พบเป็นของบิลลี่จริง เพราะดีเอ็นเอตรงกับมารดาของบิลลี่
ต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คน ในคดีฆาตกรรมบิลลี่ แต่สุดท้ายอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กลับสั่งไม่ฟ้องข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่สั่งฟ้องเฉพาะข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ต้นปี 2563 ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานได้คัดค้านมติที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกที่เห็นชอบให้รัฐบาลไทยยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกต่อศูนย์มรดกโลก (World Heritage Centre) จนกว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาที่ดินทำกินและสิทธิมนุษยชน
ปลายปี 2563 คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้เวลาไทย 3 ปี ในการกลับไปตรวจสอบข้อกังวลและแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหาที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รวมถึงเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการขึ้นเป็นมรดกโลกมากขึ้น
สำนักข่าวชายขอบออกข่าวว่า นิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอยเล่าถึงเหตุผลที่ชาวกะเหรี่ยงต้องการอพยพย้ายกลับไปอาศัยทำกินที่หมู่บ้านใจแผ่นดินล่าสุด เนื่องจากถ้ายังอาศัยอยู่ในที่ที่อุทยานฯ จัดสรรให้ ชาวบ้านจะอดตาย เพราะไม่มีที่ดินกินที่อุดมสมบูรณ์เหมือนที่บรรพบุรุษเคยทำกินมา
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์' ว่าชาวบ้านประมาณร้อยกว่าคนได้อพยพออกจากพื้นที่ที่อุทยานฯ จัดสรรให้จริง พวกเขาไปกันทั้งครอบครัว ซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนชรา เป็นการอพยพเพื่อหนีความลำบากในพื้นที่ที่อุทยานฯ จัดให้
"บ้านบางกลอยล่างนั้นเป็นพื้นที่ที่เพาะปลูกไม่ได้ ดินแล้ง แหล่งน้ำไม่เพียงพอและเหมาะสมกับการเพาะปลูก พูดง่ายๆ คือพวกเขาหนีตาย หนีความอดอยาก และพยายามเอาชีวิตรอดปกติ"
ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และฝ่ายปกครองเตรียมขับไล่ผลักดันชาวบ้านที่อพยพขึ้นไปให้ออกจากพื้นที่ เพราะผิดกฎหมาย ถือเป็นการบุกรุกเขตอุทยานฯ แต่มองในมุมชาวบ้าน พวกเขาแค่ต้องการกลับบ้านเกิด
"ศาลปกครองสูงสุดก็เคยตัดสินแล้วว่าเนื่องจากพวกเขาต้องการกลับไปที่ตั้งหมู่บ้านใจแผ่นดิน หมู่บ้านบรรพบุรุษดั้งเดิมเพื่อสร้างบ้านเรือนและทำมาหากินในที่ดินที่อุดมสมบูรณ์เช่นเดินที่เคยเป็นมา" สุรพงษ์กล่าวและเรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่าใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านเหมือนที่เคยทำให้เมื่อปี 2554
และขอให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานที่มีหลักฐานประจักษ์ว่ามีชุมชนอยู่อาศัยมาก่อน รวมถึงยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เพื่อปกป้องและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
เรียบเรียงข้อมูลจาก
ภาพเปิด : ถาวร หลักแหลม