ไม่พบผลการค้นหา
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เผยเบื้องหลังการพิจารณาต่อสัญญาทางด่วน 30 ปี ระหว่างการทางพิเศษฯ และ BEM เพื่อแลกกับหนี้ ระดับบอร์ด กทพ. ยังหวั่นใจ เนื่องจากหลายคดียังไม่ยุติ

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แบบบัญชีรายชื่อ ระบุผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ประเด็นการพิจารณาต่อสัญญาทางด่วนเป็นระยะเวลา 30 ปี เพื่อแลกกับหนี้ที่การทางพิเศษฯ จะต้องชำระ 137,515.6 ล้านบาท จากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งหมด 17 ข้อพิพาท

โดยมองว่า ปัจจุบันมีเพียงข้อพิพาทเดียวเท่านั้นที่ได้ข้อยุติแล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ แพ้คดี และให้จ่ายเงินชดเชยให้บีอีเอ็มเป็นจำนวน 4,318.4 ล้านบาท จึงเห็นว่า การทางพิเศษฯ ควรพิจารณาจากหนี้จำนวนนี้เท่านั้น ในการต่อสัญญาทางด่วนกับบีอีเอ็ม ไม่ใช่พิจารณาจากหนี้ทั้งหมดที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

เนื้อหาทั้งหมดระบุผ่านเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ดังนี้ 

แม้แต่บอร์ดก็ยังผวา! ต่อสัญญาทางด่วน 30 ปี

การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินคดีข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันพุธที่ 19 ธันวาคม 2561 มีการพิจารณาต่อสัญญาทางด่วนให้บีอีเอ็มเพื่อแลกกับหนี้ที่การทางพิเศษฯ จะต้องชำระให้บีอีเอ็มรวมเป็นเงิน 137,515.6 ล้านบาท จากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งหมด 17 ข้อพิพาท

จากข้อพิพาททั้งหมดดังกล่าวข้างต้น มีเพียงข้อพิพาทเดียวเท่านั้นที่ได้ข้อยุติแล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ แพ้คดี และให้จ่ายเงินชดเชยให้บีอีเอ็มเป็นจำนวน 4,318.4 ล้านบาท ข้อพิพาทที่เหลือจำนวน 16 ข้อพิพาท เป็นข้อพิพาทที่อยู่ในขั้นการพิจารณาของศาลปกครองจำนวน 3 ข้อพิพาท ขั้นอนุญาโตตุลาการจำนวน 9 ข้อพิพาท และข้อพิพาทที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจำนวน 4 ข้อพิพาท

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กรรมการของการทางพิเศษฯ หรือบอร์ดบางคนมีความกังวลว่าทำไมการทางพิเศษฯ จึงต้องนำหนี้ที่ยังไม่เกิดขึ้นซึ่งศาลปกครองสูงสุดยังไม่ตัดสินมาพิจารณาต่อสัญญาให้บีอีเอ็มแทนการชำระเงินด้วย ทำไมจึงไม่พิจารณาเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วจำนวน 4,318.4 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องต่อสัญญาทางด่วนให้บีอีเอ็มเป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี

ทราบมาว่าในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งนี้ มีการพูดถึงความกังวลของบอร์ดคนนั้น โดยมีการกล่าวว่า “ท่าน...(บอร์ดการทางพิเศษฯ) กังวลว่าการที่เราไปเอาหนี้ที่ยังไม่เกิดขึ้นมาพิจารณา หมายความว่าการทางพิเศษฯ ยอมรับสภาพหนี้แล้วใช่ไหม ซึ่งจะกลายเป็นจุดอ่อนที่จะถูกทักท้วงได้”

จริงของท่าน...(บอร์ดการทางพิเศษฯ) เพราะผมได้เคยทักท้วงไปแล้วว่า ทำไมการทางพิเศษฯ จึงไม่นำหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้นคือจำนวน 4,318.4 ล้านบาท มาพิจารณาต่อสัญญาให้บีอีเอ็มซึ่งจะใช้เวลาเพียงประมาณ 4-5 ปี เท่านั้น ไม่ใช่ 30 ปี

นอกจากบอร์ดท่านนี้แล้ว ยังมีบอร์ดท่านอื่นอีกที่มีความกังวลในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีบอร์ดที่มีความเห็นต่างไปจากนี้ ซึ่งน่าค้นหาว่าเป็นเพราะเหตุใด หรืออาจเป็นเพราะมั่นใจว่าข้อพิพาทที่เหลือจำนวน 16 ข้อพิพาทนั้น การทางพิเศษฯ จะแพ้คดีเกือบทั้งหมด จึงทำให้ยอมรับสภาพหนี้ล่วงหน้าก่อนศาลปกครองสูงสุดจะตัดสิน

จะอย่างไรก็ตาม ในที่สุดบอร์ดการทางพิเศษฯ ก็มีมติอนุมัติให้การทางพิเศษฯ ต่อสัญญาทางด่วนให้บีอีเอ็มถึง 30 ปีจนได้ ซึ่งจะทำให้การทางพิเศษฯ ต้องสูญเสียรายได้จากค่าผ่านทางเป็นจำนวนมาก

เรื่องนี้กำลังจ่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครม.จะพิจารณาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ

'ระวี' บอกหนี้เทียบไม่ได้กับรายได้

ขณะที่ นายระวี มาศฉมาดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ได้เเถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า ได้ตัดสินใจทำหนังสือถึง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ชะลอการพิจารณาสัญญาทางด่วนดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากเห็นว่าจำนวนหนี้ 137,515.6 ล้านบาท นั้นเทียบไม่ได้กับรายได้ของบริษัทที่จะได้รับ ในช่วง 30 ปี ตลอดอายุสัมปทานที่จะได้รับราว 4 แสนล้านบาท และเชื่อว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติ


อ่านข่าวเพิ่มเติม