ไม่พบผลการค้นหา
พิชัยเตือนรัฐบาลอย่าดีใจเกินจริงว่าเศรษฐกิจโต เชื่อเหตุ IMD ลดอันดับความสามารถในการแข่งของไทยลง 3 อันดับ เพราะไม่สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงและไร้ประสิทธิภาพ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า จากการจัดอันดับความสามารถแข่งขันของไทยโดยสถาบัน IMD ล่าสุด ประเทศไทยถูกจัดอันดับลดลง 3 อันดับ จาก อันดับที่ 27 ตกไปอยู่ที่ 30 หรือ เท่ากับ อันดับหลังการปฏิวัติ สาเหตุหลักคือ ความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ซึ่งคงเห็นได้ชัดจากผลงานของรัฐบาลและแนวคิดของผู้นำ อีกทั้ง การขาดดุลงบประมาณ ที่อาจจะมีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งในโครงการประชารัฐ และ ไทยนิยม ไม่ได้เกี่ยวกับการใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐานตามที่รัฐบาลแก้ตัว เพราะการเบิกเงินปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ได้ไปถึงไหน และ ปัญหาความล้าหลังของการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นปัญหาหลักที่ ไอเอ็มดีชี้ว่าเป็นสาเหตุทำให้ความสามารถแข่งขันของไทยลดลง และที่สำคัญ ไอเอ็มดี ได้แนะนำให้ไทยรับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก และ เร่งปรับตัว เพราะการรับรู้และปรับตัวของไทยต่ำมาก

นายพิชัยระบุว่าที่ผ่านมาได้เตือนรัฐบาลมาตลอด และจะเป็นสาเหตุของวิกฤตกบต้มได้เพราะมีความรู้ไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ศึกษาการวิเคราะห์และคำแนะนำของไอเอ็มดีนี้อย่างละเอียด ซึ่งหากจำกันได้ พลเอกประยุทธ์ เคยขึ้นพูดในเวทีการประชุมนานาชาติในปี 2559 อ้างถึง ไอเอ็มดี จัดอันดับที่ดีขึ้นในขณะนั้น และยังถามในที่ประชุมนานาชาติว่า “พิชัย จบอะไรมา? ถึงมาวิจารณ์เศรษฐกิจ” ซึ่งตนเองจบเศรษฐศาสตร์ จุฬา และ ปริญญาโท เอ็นบีเอ ที่จุฬา ก็อยากขอให้พลเอกประยุทธ์ที่ไม่ได้มีพื้นฐานการศึกษาทางเศรษฐกิจได้ศึกษาหาความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของโลกมากๆ จะได้เข้าใจและพัฒนาประเทศในทางที่ถูกต้อง ประชาชนจะได้ไม่ลำบากเหมือนในปัจจุบัน

อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานยังกล่าวด้วยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันแม้จะดูว่าสูงเมื่อเทียบกับอดีตที่เศรษฐกิจทรุดต่ำมาตลอด 4 ปี ของการปฏิวัติ แต่ก็ยังไม่ได้โตมากนัก เพราะประเทศเพื่อนบ้านเราเศรษฐกิจโตสูงมาตลอดหลายปีนี้ เปรียบได้กับคนป่วยที่พึ่งจะเริ่มหัดเดินได้แต่ยังวิ่งไม่ได้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านวิ่งมาตลอด 4 ปีแล้ว จึงอยากให้เข้าใจและอย่าดีใจมากเกินจริง โดยนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยจะมุ่งเน้นการปรับตัวของไทยเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อก้าวทันและพัฒนาให้เท่าเทียมหรือสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 

ขณะที่เวบไซต์ Thailand Competitiveness ได้เผยแพร่รายงานIMD World Competitiveness Yearbook 2018 ของสถาบัน IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยระบุถึงการประเมินขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยว่า เมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับของไทย จากผลการจัดอันดับที่แบ่งเป็น 4 ด้านได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยด้านที่ดีขึ้นในปีนี้คือโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ด้านสภาวะเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของภาคธุรกิจคงเดิม ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่ผลการจัดอันดับด้านสภาวะทางเศรษฐกิจในปี 2561 พบว่า ในภาพรวมประเทศไทยมีอันดับคงที่จากปีที่แล้วคืออันดับที่ 10 อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลงถึง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) ที่ลดลงมาเป็นอันดับที่ 34 จากอันดับที่ 33 ในปี 2560 การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) อยู่ในอันดับที่ 6 จากอันดับที่ 3 ในปี 2560 และ การจ้างงาน (Employment) ที่อันดับลดลงจากอันดับที่ 3 เป็นอันดับที่ 4 ในขณะที่ระดับราคาและค่าครองชีพ (Prices) มีอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 28 ในปี 2560 มาเป็นอันดับที่ 23 ส่วนการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ยังคงอยู่ที่ 37 เท่ากับปีที่แล้ว

เมื่อพิจารณาเป็นประเด็นย่อยจุดแข็งของประเทศไทยยังคงเป็นด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงาน และรายได้จากการท่องเที่ยว ส่วนประเด็นที่ยังต้องพัฒนาต่อไปคือ ด้านรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากร ความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิต และด้านต้นทุนเกี่ยวกับอาหาร เป็นต้น