ไม่พบผลการค้นหา
วันนี้ ชื่อของ ‘ลี้ – จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ กำลังถูกจำจดในฐานะนักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ที่อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ จากผลงานรวมเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ ของแพรวสำนักพิมพ์ ที่มีความโดดเด่นในการตั้งคำถามเชิงปรัชญาต่อความเป็นมนุษย์ ความดี ความเลว และเพศสภาพ ผ่านการเล่าเรื่องแนว ‘แฟนตาซี ดิสโทเปีย’

ต้องยอมรับว่า การได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2560 ของจิดานันท์มีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวของโลกวรรณกรรมน่าจับตามองยิ่งขึ้น จนช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เธอกลายเป็นบุคคลที่สื่อไทยแทบทุกสำนักต้องการตัวมากที่สุด

แม้อายุเพียงแค่ 25 ปี ทว่าในแวดวงนักเขียนจิดานันท์ไม่ใช่มือสมัครเล่น เธอเขียนหนังสือมาตั้งแต่อายุ 12 ปี และมีผลงานเรื่องสั้นได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ทำให้หลายต่อหลายคนตั้งคำถามว่า อะไรทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจเลี้ยงปากท้องด้วยอาชีพนักเขียน และสะท้อนเรื่องราวที่ทำให้ผู้อ่านต้องหันมาใคร่ครวญกับสังคมโลก และการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลให้เธอต้องเดินทางมาจากจังหวัดเชียงราย เพื่อฉายภาพชีวิต ความคิด และผลงานของตนเองให้ลึกซึ้งขึ้นอีกขั้น

1 (8 of 107).JPG

รางวัลซีไรต์ทำให้คุณเครียดกับเรื่องอะไรมากที่สุด

จิดานันท์ – สองสามวันแรกกดดัน และเครียดเรื่องกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่พอผ่านไปสักพักก็เริ่มโอเคขึ้น คือเราอยู่ในฐานะซีไรต์อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ และเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นสถานะที่จำเป็นต้องถูกตั้งคำถาม และเกิดกระแสวิจารณ์แน่นอน ดังนั้น ก็ไม่ควรไปเครียดกับสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว และปกติเราอยู่บ้านต่างจังหวัด ไม่ค่อยออกไปไหน พอมากรุงเทพฯ แล้วต้องออกสื่อติด ๆ กันเครียด คือความจริงสนุกที่คุยกับสื่อ และดีใจด้วยที่ช่วยพีอาร์ให้อมรินทร์ได้ แต่มันก็เหนื่อย ๆ

การประกาศผลของคณะกรรมการผ่านมา 2 สัปดาห์แล้ว คุณหาวิธีเยียวยาความเหนื่อยให้ตัวเองได้หรือยัง

จิดานันท์ – ยังไม่มีเวลาเยียวยา ยังไม่มีเวลาดีใจ ยังไม่มีเวลาทุกสิ่งอย่าง แต่เมื่อกลับบ้าน และได้อยู่แบบที่ไม่มีใครติดต่อมาคงจะรู้สึกดีขึ้นเอง

หลังจากได้รับรางวัลซีไรต์ คุณขึ้นสเตตัสว่า อินบ็อกซ์ไปหา ‘ปราบดา หยุ่น’ เพราะอะไร

จิดานันท์ – หากมีนักเขียนซีไรต์สักคนที่อยากคุยด้วยในประเด็นอายุน้อยก็คงเป็นพี่คุ่น แต่มันไม่ใช่ครั้งแรกที่มีโอกาสคุยกับพี่คุ่น เพราะเคยเข้าค่ายกับพี่คุ่นก็ผ่านการพูดคุยกันมาพอสมควร คือลี้แชทไปบอกว่า ลี้-จิดานันท์ เหลิงเพียรสมุท ไม่รู้จำได้ไหม ตอนนี้ลี้ได้ซีไรต์นะ แล้วพี่เขาบอกว่า ยินดีด้วยนะครับ แต่พี่ไม่ได้ตามข่าวเลย (เขิน) ไม่ได้คุยอะไรเยอะ เพราะเกร็ง ๆ

ด้วยวัย 25 อะไรทำให้คุณตัดสินใจยึดการเขียนหนังสือเป็นอาชีพ

จิดานันท์ – ลี้เขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 12 แล้วก็เขียนมาเรื่อย ๆ แต่ยังไม่เคยคิดจะเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว จากนั้นพอทำงานประจำมันกลายเป็นติดพันต้นฉบับอยู่หลายเล่ม ไม่มีเวลาเขียน ทำให้ต้องลาออกมาเขียนหนังสือ และเหตุที่ปัจจุบันยังเขียนหนังสืออยู่คือ เรายังมีงานที่กำลังทำอยู่ และสามารถจะอยู่ไปได้เรื่อย ๆ  

1 (104 of 107).JPG

ปัจจัยเรื่องอายุ และเพศ มีความเกี่ยวข้องกับงานเขียนของคุณอย่างไร รู้สึกว่าตัวเองอายุน้อยไปไหมที่จะทำงานวรรณกรรม

จิดานันท์ – อยากให้ทุกคนคิดภาพวรรณกรรมเป็นคนสักคนหนึ่ง จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ ถ้าภาพรวมของวรรณกรรมเป็นคน เขา/เธอต้องเป็นคนใจกว้างพอสมควร เขา/เธอคงไม่มาพูดกีดกันว่า ผู้หญิงไม่ควรยุ่งกับสายวรรณกรรม หรือเด็กไม่ควรมายุ่งกับสายวรรณกรรม วรรณกรรมต้องเปิดกว้าง


วรรณกรรมต้องเปิดกว้าง ไม่จำกัดเพศ อายุ หรือเชื้อชาติใด ๆ

รวม 9 เรื่องสั้นของ ‘สิงโตนอกคอก’ เกี่ยวกับประเด็นอะไรบ้าง

จิดานันท์ – ทั้ง 9 เรื่องของ ‘สิงโตนอกคอก’ จะมีการเซ็ตติ้งฉาก โลก หรือเมืองที่ผิดปกติ อาจผิดปกติในแง่ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา การเมือง การปกครอง ความผิดปกติสร้างขึ้นมาให้นามธรรมบางอย่าง เช่น ความเป็นมนุษย์ ความดีเลว หรือเพศสภาพ ถูกนำมาใช้ในการขบคิดได้ง่ายขึ้น

ในเรื่อง ‘รถไฟเที่ยงคืน’ มีประเด็น ‘วัฏสงสาร’ และด้วยวัย 25 ทำไมคุณคิดจะเขียนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมา

จิดานันท์ – ก่อนอื่นต้องบอกว่า ‘รถไฟเที่ยงคืน’ ถูกพัฒนามายาวนานมาก คิดจะเขียนตั้งแต่ปลายปี 2013-2014 คิดจะเขียนเป็นเรื่องยาว 80 หน้า เปลี่ยนเป็นเรื่องสั้น 8 หน้า นำพล็อตไปพูดคุยกับวิทยาการบางท่านในค่ายงานเขียน และพูดคุยกับเพื่อนจำนวนมาก ปรับจนพรุนกว่าจะมาเป็นตรงนี้ ยากมาก แต่มีประเด็นบางอย่างที่เราอยากพูดถึง คือเรามันจะพูดถึงความตาย เพราะเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึง แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด ไม่มีใครเจอความตาย คุณอาจจะไม่เจอความรักในชีวิต แต่ร้อยเปอร์เซ็นต์คุณต้องเจอกับความตาย

1 (58 of 107).JPG

ทั้ง 9 เรื่องสั้นใน ‘สิงโตนอกคอก’ มีความดาร์กแบบ ‘แฟนตาซี ดิสโทเปีย’ เป็นแกนหลัก คุณต้องการสะท้อนความจริงในสังคมใกล้ตัวหรือเปล่า

จิดานันท์ – ความจริงสังคมมีปัญหาเยอะ แต่ไอเดียการเขียนแรกไม่ได้ต้องการสะท้อนสังคม ลี้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาปรัชญา แล้วตัวปัญหาปรัชญาเป็นสิ่งที่คิดกันมาเนินนานก่อนคริสตกาล เพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคมในทุกระดับ คือลี้ทำงานเชิงปรัชญา และปรัชญาเป็นสิ่งวิพากษ์วิจารณ์สังคมมันเป็นสองชั้น และปรัชญาเป็นศาสตร์สากลทั่วโลก และคำถามเชิงปรัชญาที่พูดกันมานานมันสามารถสะท้อนได้ทุกสังคม ดังนั้นมันเลยสะท้อนสังคมใกล้ตัวด้วย และสังคมไกลตัวมันก็สะท้อนได้

หลายคนบอกว่า ก่อนนอกคอกต้องรู้จักคอกของตัวเองให้ดีก่อน แล้วคุณคิดว่าสังคมไทยมีคอกไหม และเป็นคอกแบบไหน

จิดานันท์ – สังคมของเราเต็มไปนอกคอก และมีคอกหลายอย่างครอบคลุมพวกเราทุกคนอยู่ พอพูดแบบนี้ทุกคนจะคิดถึงประเด็นการเมือง แต่ขอไม่ยกตัวอย่างการเมือง เพราะการเมืองเป็นตัวอย่างที่มองเห็นง่ายมาก และพอถูกมองเห็นง่ายก็จะมีการตั้งคำถาม และถกเถียงได้มาก ซึ่งสิ่งที่ถูกตั้งคำถาม และถกเถียงมากมันสามารถไปสู่ทางออกได้ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่มองเห็นยากกว่า และไม่ค่อยถูกตั้งคำถาม เมื่อไม่ถูกตั้งคำถามก็จะไม่มีการแก้ไข ยกตัวอย่างง่ายที่สุดอาจจะเป็นเรื่องความเป็นชาย ความเป็นหญิง มันเป็นคอกที่อยู่ในวัฒนธรรม ในการกระทำของผู้ชายบางคน หรือแม้แต่การกระทำของผู้หญิงบางคนที่มากดผู้หญิงด้วยกันเองให้ต้อยต่ำอยู่ในสื่อ ละคร หรือแม้แต่วรรณกรรมกระแสหลักก็ยังมีบางโมเมนต์ที่เหยียด หรือแม้แต่บางทีตัวเราเองยังเผลอไผลไปพูดแซวผู้หญิง ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นการเหยียด หรือคอกที่ล้อมกรอบอยู่ว่า ถ้าเธออยากจะเป็นเมียและแม่ที่ดีต้องเป็นแบบนี้ แล้วมันมองเห็นได้ยาก ทำให้แก้ไขยากขึ้น

แล้วถ้าพูดในระดับปัจเจก การนอกคอกจากการเป็นตัวเองคืออะไร

จิดานันท์ – ความจริงระบบการศึกษาสั่งสอนให้ทุกคนอยู่ในคอกพอสมควร แล้วถ้าจะนอกคอกจากการเป็นตัวเอง นอกคอกจากสิ่งที่เคยเป็นในวัยมัธยม หรือวัยเด็ก ลี้คิดว่ามันไม่ใช่การนอกคอกจากการเป็นตัวเรา แต่เป็นการออกจากคอกที่ผู้อื่นที่สังคมได้กำหนดเอาไว้ และกลับไปเป็นตัวเราที่แท้จริงอีกครั้งหนึ่ง

1 (95 of 107).JPG

การมีคอกช่วยทำให้บริบทสังคมดูสงบเรียบร้อยขึ้นบ้างไหม

จิดานันท์ – จริง ๆ เราไม่ใช่คนสุดโต่งนะ ไม่รู้จะเชื่อกันอยู่ไหม หลังจากตอบไปสองสามคำถาม คือถ้าไม่ชอบกฎระเบียบของโรงเรียนก็ไม่ได้รู้สึกว่า โอเคทุกคนต้องอนาคิสต์เต็มที่ เพราะคอกมีประโยชน์ที่ทำให้เกิดความสงบในสังคม ในการอยู่ร่วมกัน แต่คอกเหล่านั้นยังมีข้อเสียบางอย่าง ซึ่งควรจะถูกตั้งคำถาม และวิจารณ์ได้ เพื่อพัฒนาส่วนดีเก็บไว้ และส่วนไม่ดีจะได้เปลี่ยน

‘นอกคอก’ ในภาษาอังกฤษคือ ‘Think out of the box’ ซึ่งมีความหมายเชิงบวก แต่พอพูดเป็นคำไทยว่า ‘นอกคอก’ มันยังฟังเหมือนเป็นเรื่องเดียวกันอยู่ไหม

จิดานันท์ – ภาษามีส่วนกำหนดวัฒนธรรม ภาษามีส่วนกำหนดความคิด คือถ้าไม่มีคำเรียกอะไรบางอย่างเราจะไม่มีคอนเซ็ปต์ของสิ่งนั้นอยู่ในหัว การที่คนต่างชาติมองความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ เป็นเรื่องดี แต่วัฒนธรรมไทยกลับบอกว่า ถ้าคุณไม่ทำตามผู้ใหญ่ หรืออำนาจหลัก ทำให้คุณกลายเป็นคนไม่ดี นั่นแสดงให้เห็นว่า ภาษาเป็นคอกที่กักขังพวกเราอยู่

ทำไมเรื่อง ‘ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี’ ถึงเลือกใช้ ‘ไพร่’ เป็นสัญลักษณ์

จิดานันท์ – บางครั้งมันมีแรงบันดาลใจมากจากเรื่องใกล้ตัว อย่างเพื่อนของลี้จะเป็นคนชอบเล่นบอร์ดเกม และจะมีโมเมนต์แบบเปิดไพ่มาแล้วล้มละลายยย (ลากเสียง) หรือไม่ก็ถูกลอตเตอรี (เสียงสูง) คือเหมือนเปิดไพ่ใบเดียวชีวิตเปลี่ยน และเราก็รู้สึกอยากลองเขียนเกี่ยวกับเมืองที่เป็นแบบนั้น

รางวัลซีไรต์เป็นการลงเล่นในสนามที่ใหญ่เกิดตัวไปไหม

จิดานันท์ – เหมือนที่ตอบไปตอนแรกว่า บุคลาธิษฐาน (Personification) ควรจะไม่จำกัดเพศ อายุ หรือเชื้อชาติใด ๆ

1 (78 of 107).JPG

อะไรเป็นแรงกระตุ้นให้คุณสามารถทำงานเขียนที่แตกต่างกันทั้งทางด้านมุมมอง และแง่คิด ควบคู่กันไปได้

จิดานันท์ – มันทำให้เราสมดุล เพราะเวลาทำงานวรรณกรรมอย่าง ‘สิงโตนอกคอก’ กว่าจะสังเคราะห์ออกมามันหนักมาก และเครียดมาก พอเขียนจบเล่มก็ไม่อยากเจอเรื่องเครียดอีก ทำใ���้หันไปเขียนนิยายรัก แต่ความจริงนิยายรักก็ต้องใช้ความสามารถ ไม่ใช่เขียนเล่น ๆ แต่เวลาคิดนิยายรักมันเป็นจิตใจทางบวกกว่า ทำให้ได้บาลานซ์ตัวเองจากด้านมืดหม่น และพอคิดนิยายรักมากจะเริ่มเบื่อ ๆ อยากหม่น ๆ กับสิ่งที่เห็นในสังคม หรืออยากพูดประเด็นต่าง ๆ ก็จะกลับมาเขียนวรรณกรรม

พอพูดเรื่องนิยายรัก ‘อดัมกับลิลิธ’ ก็เป็นความรักแบบหม่น ๆ เหมือนกัน

จิดานันท์ – เป็นเรื่องที่เขียนไว้ก่อนจะคัดเลือกมาอยู่ในเล่ม ‘สิงโตนอกคอก’ ซึ่ง ‘อดัมกับลิลิธ’ เป็นเรื่องที่ของผู้หญิงแข็งแกร่ง และผู้หญิงที่มีหนทางเป็นของตัวเอง เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้หญิงอ่านแล้วอิน

ทราบมาว่า คุณเริ่มต้นเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 12 และคิดเสมอว่า หากเขียนหนังสือต่อไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งต้องได้เป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์แน่นอน อะไรทำให้มั่นใจขนาดนั้น

จิดานันท์ – ความจริงเราไม่ได้มั่นใจกับการรางวัลซีไรต์ แต่มั่นใจหลังจากเริ่มต้นทำงานวรรณกรรมไปเรื่อย ๆ ว่าจะได้ส่งงานเข้าประกวดในสนามของซีไรต์แน่ ๆ เพราะนั่นหมายความว่า ผลงานมีคุณภาพมากพอที่สำนักพิมพ์จะส่งเข้าประกวด

เคยมีช่วงเวลาไม่มั่นใจในการเขียนเกิดขึ้นบ้างไหม

จิดานันท์ – ความไม่มั่นใจมีอยู่ตลอดเวลา แต่ยังไม่เคยคิดที่จะเลิกเขียน คือสมมติเขียนออกมาแล้วคุยกับเพื่อน ซึ่งเพื่อนบอกโอเคแล้ว แต่เราก็จะรู้สึกเหมือนตอนจบยังแผ่ว ๆ จนเพื่อนที่ทำงานด้วยกันต้องบอกว่า พอเถอะ แก้กันมาเยอะแล้ว หรือบางทีบรรณาธิการก็บอกว่า สิ่งที่แก้มาเริ่มแย่กว่าตอนแรกแล้ว หยุดเดี๋ยวนี้ (หัวเราะ)

1 (53 of 107).JPG

ถึงตอนนี้ คุณอยู่กับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า คุณยังไม่คู่ควรกับการเป็นนักขียนรางวัลซีไรต์ เมื่อเทียบกับรุ่นพี่คนอื่น ๆ ที่ผ่านมาอย่างไร

จิดานันท์ – ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า คำวิพากษ์วิจารณ์จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะเรายืนอยู่บนจุดที่อายุน้อยสุด ซึ่งมันต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และถ้าไม่มีคงจะเป็นเรื่องแปลก ที่ผ่านมาเราเห็นการวิจารณ์แค่บางอันเท่านั้น ตอนแรก ๆ มันปะทะเยอะจนรู้สึกเฟล เพื่อน ๆ ต้องมาบอกว่า เลิกอ่านได้เลย คือรางวัลกับคำวิจารณ์มันเป็นเหมือนกิ๊ฟเซ็ตที่มาพร้อมกัน และเมื่อมันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว จะไปกังวล หรือไม่กังวล จะเป็นบ้า หรือเฉย ๆ มันก็ต้องเกิดขึ้น ในเมื่อผลลัพธ์มันเหมือนกัน ดังนั้น ขอเลือกระหว่างทางที่จิตปกติหน่อย

อยากบอกอะไรกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์ผลงานของคุณ

จิดานันท์ – ไม่จำเป็นต้องบอกอะไร ไม่พูดอะไรดีกว่า เพราะสมมติมีใครสักคนหนึ่งที่คุณคิดว่า ‘สวย’ แต่ลี้คิดว่า ‘ไม่สวย’ เพราะจมูกใหญ่ ความรู้สึก ‘ไม่สวย’ จะเป็นจริงในโลกของลี้ ต่อให้คนมากมายมาบอกว่า ‘สวย’ มันก็เป็นความจริงในโลกของพวกเขา และหากมีคนคิดว่า ‘ไม่เหมาะสม’ มันก็จริงในโลกของเขา ต่อให้คนอีกมากมายบอกว่า ‘สนุก’ เขาก็อยู่กับความรู้สึกที่ไม่เหมาะสมไปแล้ว ขณะเดียวกันยังมีอีกมากมายคิดว่า ‘เหมาะสม’ และมันจริงในโลกของคนเหล่านั้น มันจริงในโลกของกรรมการ

ด้านคนอ่านล่ะ อยากให้พวกเขาได้อะไรจาก ‘สิงโตนอกคอก’

จิดานันท์ – ตอนทำ ‘สิงโตนอกคอก’ ไม่ได้มีความหวังเรื่องส่งซีไรต์ แต่มีความหวังเรื่องการเขียนวรรณกรรมอ่านง่าย และพอเด็ก ๆ อ่านจะรู้สึกว่า วรรณกรรมอ่านไม่ยาก และกล้าอ่านหนังสือของรุ่นพี่นักเขียนท่านอื่น ๆ ที่เก่ง ๆ และเขาเคยกลัว คือลี้อยากทำงานที่มีความเป็นสะพาน หรือเป็นทางเข้าที่เป็นมิตร

1 (48 of 107).JPG

ประโยคที่เขียนเวลาแจกลายเซ็นต์ให้กับนักอ่านเล่ม ‘สิงโตนอกคอก’ คือ

จิดานันท์ – ความจริงตัวลายเซ็นต์ยังแจกไม่เยอะ แต่เวลาเซ็นต์หนังสือจะใช้ประโยคแตกต่างกันออกไป บางครั้งประโยคอาจไม่คงอยู่ตลอด สำหรับเล่ม ‘สิงโตนอกคอก’ คือ ‘ขอให้วรรณกรรมส่องทางคุณ’ หรือ ‘แด่คุณ’ ในกรณีต้องเซ็นต์เยอะมาก ๆ

สุดท้าย ในฐานะนักเขียนซีไรต์คนล่าสุด คุณอยากขอบคุณใครเป็นพิเศษ

จิดานันท์ – ลี้ยังไม่เคยเขียนสเตตัสขอบคุณกรรมการอย่างเป็นทางการที่ให้โอกาส ‘สิงโตนอกคอก’ ตั้งแต่รอบลองลิสต์ ชอตลิสต์ จนตอนนี้คงต้องขอบคุณกรรมการ ผู้ดำเนินงานทุกท่าน และขอบคุณครอบครัว เพื่อน ๆ ที่คอยสนับสนุน เพราะ ‘สิงโตนอกคอก’ เป็นเล่มที่หนักมาก สภาพจิตแย่มาก เพื่อน ๆ จำเป็นต้องช่วยประคองพลังชีพ คอยแชตมาถามทุกวัน คือตอนเขียนสนุกนะ แต่พอกลับมาทบทวนจะอ่านวนไปวนมา ดาร์กมาก และอาตุ๊-จตุพล บุญพรัด (บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์) ที่ให้โอกาส ‘สิงโตนอกคอก’ ตอนเป็นต้นฉบับ จนกระทั่งเดินทางมาถึงวันนี้ มันไม่ใช่ซีไรต์ของลี้ แต่เป็นซีไรต์ของแพรวสำนักพิมพ์