ไม่พบผลการค้นหา
นายซาอัด อัล-ฮาริรี นายกรัฐมนตรีเลบานอน เดินทางกลับประเทศเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่เขาไปเยือนซาอุดีอาระเบียช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และหายตัวไประยะหนึ่ง

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่านายฮาริรีเดินทางถึงกรุงเบรุตตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้ (21 พฤศจิกายน) และเข้าร่วมพิธีสวนสนามในวันประกาศอิสรภาพ หรือวันชาติเลบานอน ซึ่งตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายนของทุกปี ทั้งยังได้เข้าพบกับนายมิเชล อูน ประธานาธิบดีเลบานอน เพื่อหารือเรื่องที่เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ในระหว่างที่เขาเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยนายอูนได้เรียกร้องให้นายฮาริรีพิจารณาทบทวนระงับการลาออกจากตำแหน่ง

ด้วยเหตุนี้ นายฮาริรีจึงออกมาแถลงข่าวว่า เขาจะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้อธิบายเหตุผลเพิ่มเติมเช่นกันว่าทำไมก่อนหน้านี้ถึงได้ประกาศลาออก

Lebanon_Rata (3).jpg

ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคฟิวเจอร์มูฟเมนท์ของนายฮาริรีประเมินว่า ซาอุดีอาระเบียอาจกดดันให้นายฮาริรีดำเนินการบางอย่างกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลของเลบานอน ทั้งยังเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิหร่านซึ่งเป็นมุสลิมชีอะ ซึ่งซาอุดีอาระเบียถือเป็นศัตรูสำคัญ และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยังเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารนายราฟิก ฮาริรี อดีตนายกรัฐมนตรีเลบานอน ผู้เป็นบิดาของนายซาอัด ฮาริรี เมื่อปี 2005 (พ.ศ.2548) 

การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของนายฮาริรีเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงมีคำสั่งให้กวาดล้าง-จับกุมเจ้าชาย 11 พระองค์ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงภายในประเทศ โดยระบุว่าเป็นการกวาดล้างเครือข่ายทุจริต แต่นักวิเคราะห์ระบุว่าน่าจะเป็นการปราบปรามขั้วอำนาจเก่าในประเทศ เพื่อเตรียมปูทางก่อนเจ้าชายบิน ซัลมาน จะทรงมีโอกาสขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ผู้ทรงเป็นพระบิดา และการกดดันนายฮาริรีอาจหวังผลให้ตัดสายสัมพันธ์ระหว่างฮิซบอลเลาะห์กับรัฐบาลอิหร่าน เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของซาอุดีอาระเบียในการเป็นประเทศผู้นำในภูมิภาค

Lebanon_Rata.jpg

ส่วนสาเหตุที่ทำให้นายฮาริรีถูกรัฐบาลซาอุดีอาระเบียกดดัน เป็นเพราะเขาเป็นบุคคล 2 สัญชาติ โดยเขาได้รับสัญชาติซาอุดีอาระเบียเพราะเกิดที่นั่น ส่วนสัญชาติเลบานอนได้รับตามบิดา ขณะที่ปัจจุบัน ภรรยาและลูกชายทั้ง 2 คนของนายซาอัด ฮาริรี พำนักอยู่ในกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย เช่นเดียวกับธุรกิจอีกหลายแห่งของตระกูลฮาริรีที่มีฐานอยู่ในซาอุดีอาระเบียด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การแย่งชิงความเป็นผู้นำในภูมิภาคของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ถูกคัดค้านจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส สหรัฐฯ หรืออียิปต์ ซึ่งไม่ต้องการให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองขึ้นในประเทศเลบานอน เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคแล้ว ยังอาจจะกระทบต่อสถานการณ์ด้านผู้ลี้ภัยด้วย เพราะเลบานอนเป็นประเทศที่รองรับผู้ลี้ภัยมากที่สุดในตะวันออกกลางเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ฝรั่งเศสเชิญ 'ฮาริรี' เยือน แต่ย้ำว่าไม่ได้เสนอสถานะผู้ลี้ภัย

ฮิซบอลเลาะห์ชี้ ซาอุดีฯ ประกาศสงครามกับเลบานอน

ผู้นำเลบานอนหายตัวหลังเข้าเฝ้ากษัตริย์ซาอุฯ