ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงโบราณวัตถุสถานแห่งอียิปต์เปิดสุสานอายุเก่าแก่กว่า 4 พันปีให้สื่อมวลชนบันทึกภาพและรายงานข่าว หลังจากนักโบราณคดีพบสุสานดังกล่าวเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว คาดว่าเป็นของนักบวชหญิงที่เป็นตัวแทนแห่งเทพเจ้าฮาธอร์

เว็บไซต์เนชั่นแนลจีโอกราฟิกรายงานว่า รัฐบาลอียิปต์แถลงข่าวการค้นพบสุสานเก่าแก่อายุประมาณ 4,400 ปี บริเวณที่ราบสูงกีซา ไม่ไกลจากกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ โดยนักโบราณคดีค้นพบสุสานดังกล่าวตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสุสานของนักบวชหญิงนามว่า 'เฮตเพต' (Hetpet) ซึ่งเป็นตัวแทนของฮาธอร์ เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ดนตรี และการเต้นรำ ทั้งยังเป็นข้าราชบริพารระดับสูงที่ใกล้ชิดกับกษัตริย์รัชสมัยที่ 5 แห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณ เพราะมีการสลักชื่อระบุเอาไว้อย่างชัดเจน

สุสานดังกล่าวถูกสร้างขึ้นภายหลังมหาพีระมิดแห่งกีซา และภายในสุสานประกอบด้วยภาพฝาผนังแสดงเหตุการณ์ขณะนักบวชหญิงเฮตเพตเฝ้าดูการหลอมโลหะ ล่าสัตว์ จับปลา และทำเครื่องหนัง รวมถึงภาพลิงเก็บผลไม้และลิงเต้นรำ แต่นักโบราณคดีเชื่อว่าจะขุดพบโบราณวัตถุสถานที่สำคัญเพิ่มเติมอีก เพราะส่วนที่ค้นพบอยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของสุสานเท่านั้น

000_YO1N9.jpg

นักโบราณคดีเคยขุดพบโบราณวัตถุสลักชื่อนักบวชหญิงเฮตเพตครั้งแรกในอียิปต์เมื่อปี 1909 (พ.ศ. 2452) และโบราณวัตถุดังกล่าวถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนีในปัจจุบัน ส่วนสุสานที่เพิ่งค้นพบเมื่อปลายปีที่แล้ว มีผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการ คือ นายมุสตาฟา วาซิรี ผู้อำนวยการสภาสูงสุดด้านโบราณวัตถุสถานของอียิปต์

ขณะที่เว็บไซต์อียิปต์อินดีเพนเดนท์ สื่อภาษาอังกฤษในอียิปต์ ระบุว่าสุสานดังกล่าวอยู่ทางตะวันตกของมหาพีระมิดแห่งกีซา แต่เรียกนามของนักบวชหญิงซึ่งเป็นเจ้าของสุสานว่า 'ฮัตเบต' (Hatbet) ทั้งยังอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายวาซิรี ซึ่งระบุว่า สุสานที่ค้นพบในครั้งนี้ไม่น่าใช้สุสานหลักที่ใช้ฝังศพ เพราะโครงสร้างทำจากก้อนดินและก้อนอิฐเท่านั้น

ส่วนเว็บไซต์ไทม์ของสหรัฐฯ รายงานว่า อียิปต์จะทุ่มเทงบประมาณในการขุดค้นโบราณวัตถุสถานแห่งนี้ ควบคู่ไปกับสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ไม่ไกลจากมหาพีระมิดแห่งกีซาให้แล้วเสร็จภายในปีหน้า (พ.ศ. 2562) เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุต่างๆ และเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวแห่งใหม่ เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอียิปต์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการก่อเหตุของกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาค

AP18034418317391.jpg

ทั้งนี้ อียิปต์เผชิญความผันผวนทางการเมือง เศรษฐกิจ และก่อการร้าย นับตั้งแต่ปี 2011 (พ.ศ. 2554) เป็นต้นมา หลังจากประชาชนเดินขบวนขับไล่ผู้นำเผด็จการอย่างประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานกว่า 30 ปี และหลังจากนั้นได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีพลเรือนคนแรก คือ นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี แต่รัฐบาลของนายมอร์ซีถูกทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจไป เมื่อปี 2013 (พ.ศ. 2556) โดย พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้นำการรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์คนปัจจุบัน ทำให้กลุ่มชาวมุสลิมเคร่งศาสนาซึ่งเป็นผู้สนับสนุนนายมอร์ซีไม่พอใจ และมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยมีทั้งการเคลื่อนไหวโดยสงบและการใช้กำลังอาวุธ 

ขณะเดียวกัน การขยายตัวของกลุ่มติดอาวุธไอเอสในอิรักและซีเรียยังทำให้กลุ่มผู้ฝักใฝ่ความรุนแรงในอียิปต์หันไปเป็นแนวร่วม ทั้งยังมีการก่อเหตุโจมตีกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล รวมถึงประชาชนที่นับถือต่างศาสนา โดยการก่อเหตุครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557) กลุ่มติดอาวุธบริเวณคาบสมุทรซนายของอียิปต์ ยิงโจมตีเครื่องบินพาณิชย์รัสเซียตก ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน และรัสเซียประกาศคว่ำบาตรอียิปต์ทันที

ทั้งยังมีเหตุกราดยิงคนในมัสยิดของชาวมุสลิมนิกายซูฟีบริเวณคาบสมุทรไซนายเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ราย

อ่านเพิ่มเติม: