ไม่พบผลการค้นหา
นักกิจกรรมชาวไทยเชื้อสายลาหู่ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ถูกทหารยิงเสียชีวิตเมื่อ 17 มี.ค.ปีที่แล้ว โดยทหารอ้างว่าเขาขัดขืนและครอบครองยาเสพติด แต่คำให้การของพยานหลายปากระบุว่าชัยภูมิไม่มีอาวุธ จึงมีการเรียกร้องให้สอบสวนข้อเท็จจริง แต่เกือบ 1 ปีผ่านไป ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจน

รัษฎา มนูรัษฎา อุปนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผยว่ากระบวนการยุติธรรมในคดีชัยภูมิยังไม่คืบหน้า เพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถนำภาพบันทึกเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดขณะที่ชัยภูมิเสียชีวิตมาแสดงต่อศาลได้ ทำให้ไม่มีหลักฐานยืนยันคำกล่าวอ้างของทหารและพยานในเหตุการณ์

ทนายรัษฎาระบุด้วยว่า กฎหมายระบุชัดเจนให้ต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรม และในที่เกิดเหตุคดีชัยภูมิ ซึ่งก็คือบริเวณด่านตรวจถาวรรินหลวง จ.เชียงใหม่ มีกล้องวงจรปิดถึง 9 ตัว แม้เจ้าหน้าที่ทหารจะกล่าวว่านำหลักฐานดังกล่าวส่งมอบให้ตำรวจและอัยการแล้ว แต่อัยการระบุว่าไม่สามารถเปิดดูข้อมูลได้ ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้ว ผู้เก็บข้อมูลต้องรับผิดชอบและชี้แจงว่าหลักฐานหายไปได้อย่างไร

ขณะที่อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ลงพื้นที่หลังเกิดเหตุยิงชัยภูมิได้ไม่นาน เนื่องจากมีผู้ร้องขอความคุ้มครองจาก กสม. และพยานผู้เห็นเหตุการณ์สองคน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน ได้ให้ข้อมูลในวันเกิดเหตุการณ์ ซึ่งตรงข้ามกับคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหาร

พยานทั้งสองคนยืนยันว่าชัยภูมิไม่ได้ต่อสู้ แต่วิ่งหนีเจ้าหน้าที่และถูกยิง แต่หลังจากนั้น พยานทั้งสองคนระบุว่าเกรงจะถูกคุกคามจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีชัยภูมิ จึงหนีไปต่างประเทศและขาดการติดต่อไป ซึ่งอังคณาระบุว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่มีการดำเนินกระบวนการคุ้มครองพยานอย่างจริงจังและทั่วถึงในประเทศไทย

อังคณา นีละไพจิตร

นอกจากนี้ อังคณาระบุด้วยว่า สังคมไทยยังมีมายาคติเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวลาหู่ ซึ่งถูกคนในพื้นที่ส่วนกลางเรียกว่า 'มูเซอดำ' และถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายยาเสพติดตามแนวชายแดน โดยช่วงที่อดีตรัฐบาลประกาศสงครามต่อต้านยาเสพติดเมื่อปี 2544 มีชาวลาหู่ถูกวิสามัญฆาตกรรมและอุ้มหายเป็นจำนวนมาก และรัฐไม่อาจชี้แจงได้ว่าคนเหล่านี้ถูกสังหารหรือหายตัวไปด้วยเหตุผลเกี่ยวกับยาเสพติดจริงหรือไม่

การตายของชัยภูมิไม่ใช่คดีแรกของด่านรินหลวง

ไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ เปิดเผยกับวอยซ์ ออนไลน์ ว่าเขาเป็นผู้ชักชวนให้ชัยภูมิเข้าร่วมทำกิจกรรมด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนในท้องถิ่น ทั้งยังเป็นผู้หนึ่งที่ได้เห็นศพของชัยภูมิก่อนที่จะถูกส่งไปโรงพยาบาล โดยเขาระบุว่า "ความตายของชัยภูมิไม่ใช่คดีแรก"

ก่อนเกิดเหตุยิงชัยภูมิที่ด่านรินหลวงเพียงหนึ่งเดือน ทหารได้ยิง 'อาเบ แซ่หมู่' ชายชาวลาหู่เสียชีวิตในวันที่ 15 ก.พ. 2560 โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าอาเบครอบครองยาเสพติด รวมถึงพยายามขัดขืนเจ้าหน้าที่ จึงถูกยิงเสียชีวิต และมีหลักฐานเป็นระเบิดด้านที่ตกอยู่ด้านขวาของศพอาเบ แต่กลับทำให้ชาวบ้านตั้งข้อสงสัย เพราะครอบครัวของอาเบระบุว่าเขาเป็นคนถนัดซ้าย ขณะที่ผลตรวจลายนิ้วมือที่ปืนและระเบิดก็ไม่พบร่องรอยนิ้วมือของอาเบ

เมื่อคดียิงชัยภูมิเกิดขึ้น ทำให้ไมตรีตั้งคำถามกับการวิสามัญฆาตกรรมดังกล่าว และเป็นผู้หนึ่งที่ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารเปิดเผยภาพเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ในกล้องวงจรปิด

ไมตรี จำเริญสุขสมบูรณ์

(ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่เข้าร่วมกิจกรรมรำลึก 1 ปีการจากไปของชัยภูมิ ป่าแส ที่หอศิลป์กรุงเทพ)

จนกระทั่งเดือน พ.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารนับร้อยนายได้นำกำลังเข้าไปที่หมู่บ้านที่ไมตรีอาศัยอยู่ และจับกุม 'นาหว่ะ จะอื่อ' น้องสะใภ้ของไมตรี โดยระบุว่า เป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวพันในคดียาเสพติดของชัยภูมิ แม้ว่าการตรวจค้นที่พักในครั้งนั้นจะไม่พบหลักฐานใด แต่นาหว่ะถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน จากคำให้การซัดทอดของพยานเพียงรายเดียว ส่วนไมตรีถูกทหารในพื้นที่ติดตามอยู่เป็นระยะ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และต้องย้ายออกจากภูมิลำเนาพร้อมครอบครัว

ในวันที่ 13-16 มี.ค.นี้ ไมตรีเป็นหนึ่งในพยานที่จะต้องขึ้นให้การที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ในคดีชัยภูมิ ซึ่งเขายอมรับว่ากลัวและกังวล แต่ก็จำเป็นต้องสู้ โดยระบุว่า "ไม่มีใครอยากมีเรื่องกับทหาร" และที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่รัฐก็เหมือนพ่อ ซึ่งประชาชนต้องการพึ่งพิงหรือขอความช่วยเหลือในกรณีที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แต่เมื่อไม่สามารถพึ่งพารัฐได้ ก็ต้องยืนยันในข้อเท็จจริงและสู้ด้วยตัวเอง

ถ้าสังคมเรายังมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก แล้วก็มองว่าเรื่องนี้ควรจบแค่นี้ จะมีอีกกี่ชีวิตในอนาคตที่จะตามมา ผมว่ามันเจ็บปวดนะ

ลำดับเหตุการณ์ 'คดีชัยภูมิ ป่าแส'

เจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจถาวรรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยิงสังหาร ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมทางสังคมชาวลาหู่ อายุ 17 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 โดยมีการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่าชัยภูมิต่อสู้ขัดขืนในขณะที่ถูกเรียกตรวจค้นรถยนต์ฮอนด้าแจซ ซึ่งชัยภูมิโดยสารมา ทั้งยังพยายามจะขว้างระเบิดเข้าใส่เจ้าหน้าที่ จึงมีการยิงกลับเพื่อป้องกันตัว และภายหลังยังพบยาบ้า 2,800 เม็ดซุกซ่อนอยู่ในหม้อกรองน้ำของรถยนต์คันดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สื่อหลายสำนักรายงานอ้างอิงพยานที่เห็นเหตุการณ์ ซึ่งระบุว่าชัยภูมิไม่มีท่าทีต่อสู้หรือมีอาวุธตามเจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง ทำให้ครอบครัวของชัยภูมิและกลุ่มรักษ์ลาหู่เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยภาพบันทึกเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

ชัยภูมิ ป่าแส

หลังจากนั้นไม่นาน พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อโดยยืนยันว่าทหารประจำด่านปฏิบัติหน้าที่ไม่เกินเลย เพราะชัยภูมิขัดขืนและพัวพันคดียาเสพติด พร้อมระบุว่า "ถ้าเป็นผม ผมอาจกดออโต้ไปแล้วก็ได้" จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งยืนยันว่า ผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิและนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกสังหารโดยที่ยังไม่ได้ไต่สวนข้อเท็จจริง

ส่วนฮาร์ดดิสก์ซึ่งบรรจุภาพจากกล้องวงจรปิดที่ด่านรินหลวงถูกส่งไปยังตำรวจและอัยการ แต่ไม่สามารถเปิดข้อมูลได้ ทำให้ไม่มีภาพเหตุการณ์ไปใช้ประกอบการไต่สวนหรือสอบพยานในชั้นศาล

ทั้งนี้วอยซ์ ออนไลน์ได้รวบรวมลำดับเหตุการณ์ไว้ดังนี้

  • 17 มี.ค.2560 ทหารประจำด่านตรวจรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยิงชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิต
  • 20 มี.ค.2560 ทหารที่เป็นผู้ยิงชัยภูมิเข้ามอบตัว 
  • 23 มี.ค.2560 พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุว่าชัยภูมิพัวพันคดียาเสพติด พร้อมระบุว่า "ถ้าเป็นผม ผมอาจกดออโต้ไปแล้วก็ได้" 
  • พ.ค. 2560 ทหารบุกจับกุมสมาชิกครอบครัวของไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ ซึ่งเป็นผู้ตั้งคำถามกับการวิสามัญฆาตกรรมในคดีชัยภูมิ
  • 18 พ.ค.2560 ทนายความในคดีชัยภูมิระบุว่าภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดยังไม่ถึงมืออัยการ
  • 5 ก.ย. 2560 ศาลเชียงใหม่ไต่สวนคดีชัยภูมินัดแรก มีการสอบปากคำทหารผู้ยิงชัยภูมิ แต่ไม่มีการนำภาพบันทึกเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุมาประกอบการไต่สวน
  • 13-16 มี.ค.2561 ศาลเชียงใหม่เตรียมไต่สวนพยานในคดีชัยภูมิเพิ่มเติม

อ่านเพิ่มเติม: