พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกลาง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ได้ประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด ตั้งแต่ 5-22 บาท ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ เพิ่มสูงขึ้นถึง 5% จัดว่าสูงที่สุดในรอบ 5 ปี เป็นการพิจารณาด้วยข้อมูลรอบด้านอย่างรอบคอบ โดยมีผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง และภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิรวมอยู่ด้วย อีกทั้งรัฐบาลยังมีมาตรการต่างๆ ออกมารองรับผู้ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป
" หลักการในการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่ที่ประมาณ 5% โดยเฉลี่ย ถือว่าสูงในรอบ 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ความจริงแล้วเสนอมาเพียงไม่ถึง 1% แต่รัฐบาลมองทุกด้าน เพราะเห็นว่าน่าจะพิจารณาโดยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน ผู้ประกอบการ และเรื่องเงินเฟ้อ ค่าแรงที่ขึ้นครั้งนี้ ต่ำสุดคือ 5 บาท และสูงสุดคือ 22 บาท อย่างไรก็ตาม คิดว่าคงไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ แต่ส่วนใหญ่ตอบรับค่อนข้างดี ส่วนเรื่องผลกระทบเรามีมาตรการรองรับหลายเรื่องแล้ว จากข้อมูลที่เรามี ในช่วงใหม่ๆ อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่หลังจากนั้นจะปรับตัวดีขึ้นมากต่อเศรษฐกิจ ส่วนกรณีเครือข่ายแรงงานเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นเท่ากันนั้น ต้องดูหลายเรื่อง และเรื่องดังกล่าวต้องมีอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว
พลตำรวจเอกอดุลย์ ระบุ กรณีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ไม่ตรงตามมติอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดว่า ตัวเลขนี้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ยืนยันว่าตรงกับของจังหวัด จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร ซึ่งในการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะยึดตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ส่วนสาเหตุที่ยังไม่สามารถนำเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ได้ เพราะเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนธุรการ โดยจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. ในสัปดาห์หน้า
สำหรับกรณีที่มีผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทบทวนใหม่โดยปรับเท่ากันทั่วประเทศนั้น พลตำรวจเอกอดุลย์กล่าวว่า ขออย่านำมาเคลื่อนไหวเชิงการเมือง ขอให้เคารพมติบอร์ดค่าจ้าง และร่วมกันเดินหน้าเพื่อประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิมกระทรวงแรงงานจะนำเสนอมติบอร์ดค่าจ้างเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (23 มกราคม) อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ยังไม่มีการเสนอ ครม. และเลื่อนไปเป็นวันอังคารที่ 30 มกราคมแทน ส่วนการเสนอค่าจ้างขั้นต่ำแรงงาน ยังไม่มีการเสนอในที่ประชุม เพราะติดเรื่องธุรการ
ขณะที่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. คนที่ 1 นายลาเร่ อยู่เป็นสุข เลขาธิการ คสรท.,น.ส. ธนพร วิจันทร์ กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง พร้อมตัวแทนแรงงานกว่า 100 คนได้ยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาล ใน 4 ข้อเรียกร้องได้แก่ 1.ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามหลักสากล คือสามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ 2.ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ 3. ยกเลิกอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด และให้ตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ พร้อมให้มีตัวแทนแรนงานจากทุกภูมิภาคเข้าร่วมด้วย 4. ให้รัฐบาลวางมาตรการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง
ทั้งนี้นางสาวธนพร วิจันทร์ ชี้แจงว่าการปรับค่าจ้างจาก 4 ราคาเป็น 7 ราคา และค่าจ้างที่ปรับขึ้นส่วนมากเป็นจำนวนเงินน้อย คือ การปรับขึ้น 5 บาทมี 17 จังหวัด ปรับขึ้น 10 บาทมี 27 จังหวัด แต่ราคาที่ปรับขึ้น 22 บาทมีเพียง 2 จังหวัด ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วประเทศเท่ากันเกือบทุกรายการ ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น อีกทั้งมาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 1 เปอร์เซ็นต์ อาจส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเองยังค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมกว่า 5 หมื่นล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม :
คกก.สมานฉันท์แรงงานไทยย้ำจุดยืน 'ค่าจ้างขั้นต่ำ' ต้องเท่ากันทั้งแผ่นดิน