นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (23 มกราคม) เวลา 10.00 น. จะเข้ายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศ
พร้อมกับย้ำว่าการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ดีกว่าไม่ปรับ แต่การปรับไม่เท่ากันทั่วประเทศ ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เพราะราคาสินค้าส่วนใหญ่เท่ากันทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน หากค่าแรงขั้นต่ำแต่ละพื้นที่ต่างกันยังจะส่งผลให้แรงงานต้องย้ายถิ่นไปยังจังหวัดที่มีค่าจ้างสูงกว่า และการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเพียง 5-22 บาทต่อวัน ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของครอบครัวผู้ใช้แรงงาน
"เรื่องเหล่านี้ คสรท. ได้สะท้อนให้คณะกรรมการไตรภาคีรับทราบแล้วหลายครั้ง แต่ทางคณะกรรมการก็มีสูตรคำนวณของตัวเอง และยืนยันกลับมาทุกครั้งว่าเหมาะสมแล้ว ตรงข้ามกับผู้ใช้แรงงานที่มองว่า ไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง" นายสาวิทย์กล่าว
ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริง ผู้ใช้แรงงานไม่ได้ขัดขวาง เรื่องการออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะประชาชนส่วนหนึ่งได้ประโยชน์ แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลควรช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานด้วย เพราะหากคนเหล่านี้ได้รับเงินเพิ่ม ย่อมเกิดการจับจ่าย และมีเงินหมุนเวียนในระบบ
นอกจากนี้ คสรท. ยังคงยืนยันข้อเรียกร้องเดิมให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด เพราะมองว่าไม่มีตัวแทนแรงงานที่แท้จริง ทำให้ขาดอำนาจต่อรอง และผลการพิจารณาแต่ละครั้ง ผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับประโยชน์ พร้อมกันนี้ยังเสนอให้ยกเลิกมาตรการลดเงินนำส่งระบบประกันสังคม 1% เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้แรงงานสามารถอยู่ได้อย่างเท่าเทียม
"ผู้ใช้แรงงานเข้าใจผู้ประกอบการบางส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างในการขึ้นราคาสินค้า เพราะกระทรวงพาณิชย์มีตัวเลขออกมายืนยันแล้วว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรานี้ ไม่กระทบต่อต้นทุน" นายสาวิทย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่า เรื่องค่าแรง จะไม่มีปัญหา หากรัฐมีสวัสดิการดูแลประชาชนที่ดี เช่น สิทธิเรียนฟรี หรือ สิทธิรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 มกราคม) เวลา 10.00 น. คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. จะแถลงข่าวผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 หลังจากในวันที่ 22 มกราคมได้มีการประชุมตัวแทนจาก 3 สถาบันมาตลอดทั้งวัน
อีกทั้ง เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรุ่งนี้ไม่น่าจะมีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาใช่่ไหม นายกลินท์ ไม่ปฏิเสธหรือตอบรับ บอกเพียงว่า ขอให้รอฟังแถลงของ กกร. ก่อน