ไม่พบผลการค้นหา
โครงการฝึกงานของญี่ปุ่นหลอกให้แรงงานชาวเวียดนามไปทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีในจังหวัดฟุกุชิมะ ด้านกระทรวงยุติธรรมเร่งสอบสวนว่ามีชาวต่างชาติถูกหลอกให้ไปทำงานอันตรายนี้อีกกี่คน

สหภาพแรงงานเซนโทอิทสึของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ชายชาวเวียดนาม 3 คนถูกหลอกให้ไปทำงานในพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีช่วงปี 2016 - 2018 หลังสมัครเข้าร่วมโครงการฝึกงานด้านเทคนิคของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการเปิดเผยเพ่ิมเติมหลังจากชายชาวเวียดนามคนหนึ่งออกมาบอกเมื่อเดือน มี.ค.ว่าเขาถูกหลอกจากโครงการดังกล่าว

สหภาพแรงงานเซนโทอิทสึ ซึ่งให้ความช่วยเหลือคนงานชาวต่างชาติ ระบุว่าชายชาวเวียดนาม 3 คนเดินทางเข้าไปในญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฏาคมปี 2015 และพวกเขาได้ไปฝึกงานกับบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งในเมืองโคริยะมะ จังหวัดฟุกุชิมะโดยพวกเขาถูกหลอกให้ทำความสะอาดสารกัมมันตรังสี ซึ่งตกค้างจากเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะระเบิดเมื่อเดือนมีนาคม 2011 โดยสัญญาการฝึกงานระบุเพียงว่างานที่พวกเขาต้องทำนั้นจะเกี่ยวข้องกับการติดตั้งแบบหล่อและการวางโครงสร้างเหล็ก แต่บริษัทไม่ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับงานทำความสะอาดสารกัมมันตรังสีให้ทั้ง 3 คนทราบก่อน

ด้านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น กำลังสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเชื่อว่าอาจมีชาวต่างชาติที่ถูกหลอกให้เข้าไปทำงานเสี่ยงอันตรายในฟุกุชิมะผ่านโครงการดังกล่าวมากกว่า 4 คน

นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการได้เผยแพร่แถลงการณ์ที่ระบุว่างานทำความสะอาดสารกัมมันตรังสีไม่ตรงกับจุดประสงค์ของโครงการแลกเปลี่ยนพนักงานฝึกงาน

โครงการฝึกงานด้านเทคนิคเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1993 โดยมีจุดประสงค์ให้มีการแลกเปลี่ยนทักษะกับคนจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมักจะเป็นการนำคนมาฝึกงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่น แต่ที่ผ่านมา โครงการนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศว่า เป็นโครงการบังหน้าที่เปิดโอกาสให้บริษัทญี่ปุ่นนำเข้าแรงงานราคาถูก

เมื่อปี 2011 ประชาชนประมาณ 160,000 คนต้องอพยพจากบ้านเรือนของตัวเอง หลังจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูดทำให้เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิได้รับความเสียหาย จนสารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลรั่วไหลออกมา

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรีนพีซ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่งเปิดเผยผลการสำรวจว่าสารกัมมันตรังสีจะยังคงปนเปื้อนอยู่ในพื้นที่ห้ามเข้าต่อไปอย่างน้อยถึงปี 2050 หรืออาจอยู่ต่อไปถึงศตวรรษที่ 22 และโครงการขจัดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของรัฐบาลก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาประมาณร้อยละ 70 - 80 ก็ไม่สามารถขจัดสารกัมมันตรังสีออกไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: