น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายครอบครัว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เชื่อมโยงมาถึงเรื่องอาหาร และคุณภาพชีวิตในหลายด้าน สสส. ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) บ้านอุ่นไอรักเพื่อเด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาส มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาวิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น สหทัยมูลนิธิ เครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม และมูลนิธิขวัญชุมชน ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวเปราะบาง โดยใช้โมเดล "กองทุนเทใจเพื่อครอบครัวเปราะบางให้รอดไปด้วยกัน" ผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอม แพลตฟอร์มออนไลน์ในการระดมความช่วยเหลือ โดย สสส. ร่วมกับ สถาบันเช้นจ์ฟิวชัน ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ infoAID
"การดำเนินการในระยะที่ 1 สามารถเข้าถึงกลุ่มครอบครัวเปราะบาง 1,634 ครัวเรือน ใช้เวลาเพียง 26 วัน (ระหว่าง 16 เม.ย. ถึง 11 พ.ค.) ทั้งนี้ ระยะที่ 2 จะเริ่มในเดือน มิ.ย. - ก.ค. มุ่งหวังในการช่วยเหลือครอบคลุมเด็กในบ้านพักเด็กเล็ก เด็กอ่อนในชุมชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แรงงานรายวัน เพื่อบรรเทาปัญหาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพไม่เพียงพอ เนื่องจากถูกเลิกจ้าง ทำให้มีกลุ่มคนตกงาน ขาดรายได้ มีผลกระทบต่อเด็กและสมาชิกในครอบครัวทุกมิติ ครอบครัวที่มีความลำบากเป็นทุนเดิมยิ่งมีความเปราะบางเพิ่มขึ้น ครอบครัวที่เคยพอจะดูแลตัวเองได้ก็กลายเป็นกลุ่มเปราะบาง จำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ หวังว่า โมเดล "กองทุน เทใจเพื่อครอบครัวเปราะบางให้รอดไปด้วยกัน" ระยะที่ 2 จะสามารถตอบโจทย์เรื่องการช่วยเหลือตรงจุดที่ทำได้อย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมมีส่วนร่วมเอื้อเฟื้อแบ่งบัน" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าว
น.ส.เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม กล่าวว่า โมเดล "กองทุน เทใจเพื่อครอบครัวเปราะบางให้รอดไปด้วยกัน" ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤต ดำเนินการผ่านเว็บไซต์ https://taejai.com/th/ เริ่มจากเก็บข้อมูลความต้องการความช่วยเหลือกลุ่มครอบครัวเปราะบางอย่างใกล้ชิด พบว่า บางครอบครัวเด็กอยู่กับผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน บางครอบครัวพ่อแม่ต้องหยุดงานไม่มีใครรับจ้างให้ทำงาน ขาดรายได้ในการดำรงชีวิต กระทบกับการดูแลบุคคลในครอบครัวที่มีภาวะความยากลำบาก บางครอบครัวเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว มีผู้ป่วยเรื้อรัง ต้องกินยาเป็นประจำ เป็นต้น
จากนั้นจึงทำการจัดชุดยังชีพส่งมอบให้อย่างต่อเนื่องเพียงพอ ประกอบด้วย หน้ากากผ้า ของอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง สบู่ ผงซักฟอก และของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ หากมีเด็กเล็กจะเพิ่มนมและหนังสือนิทานให้ด้วย ที่ผ่านมาได้เข้าช่วยเหลือกลุ่มครอบครัวเปราะบางครอบคลุมแล้ว จำนวน 14 จังหวัด
ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดของโมเดล "กองทุน เทใจเพื่อช่วยครอบครัวเปราะบางให้รอดไปด้วยกัน" ระยะที่ 2 ได้ที่เว็บไซต์ https://taejai.com/th/ กองทุนเทใจเพื่อช่วยครอบครัวเปราะบางให้รอดไปด้วยกัน