ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่มหานครนิวยอร์ก เซเลนสกีกล่าวว่า รัสเซียที่มีอาวุธนิวเคลียร์จะต้องหยุดไม่ให้ "ผลักดันโลกไปสู่สงครามครั้งสุดท้าย" นอกจากนี้ ประธานาธิบดียูเครนยังกล่าวหารัสเซีย ว่าพยายามนำประเด็นต่างๆ มาใช้เป็นอาวุธของตัวเอง ตั้งแต่วิกฤตอาหารไปจนถึงพลังงาน ทั้งนี้ การรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียต่อยูเครน เมื่อเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ได้รับการประณามอย่างกว้างขวางจากนานาชาติ
ในสุนทรพจน์ที่เน้นไปที่อันตรายที่รัสเซียมีต่อโลก เซเลนสกีกล่าวแย้งว่าความท้าทายทั่วไปอื่นๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะสามารถได้รับการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม หลังจากที่รัสเซียถูกผลักกลับเท่านั้น “ในขณะที่รัสเซียกำลังผลักดันโลกเข้าสู่สงครามครั้งสุดท้าย ยูเครนกำลังทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าหลังจากการรุกรานของรัสเซีย จะไม่มีใครในโลกนี้กล้าโจมตีประเทศใดๆ” เซเลนสกีกล่าวกับผู้นำทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปี
ประธานาธิบดียูเครนยังกล่าวอีกว่า รัสเซีย "ไม่มีสิทธิครอบครองอาวุธนิวเคลียร์" พร้อมกันนี้ เซเลนสกีย้ำว่า “อาวุธต้องถูกควบคุม อาชญากรรมสงครามต้องถูกลงโทษ ผู้ถูกเนรเทศต้องกลับบ้าน และผู้ยึดครองต้องกลับไปยังดินแดนของตนเอง… เราต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างมัน และเราจะทำมัน!”
นอกจากนี้ เซเลนสกียังกล่าวหารัสเซียว่ากำลัง "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ด้วยการลักพาตัวเด็กชาวยูเครนไปยังแผ่นดินตัวเอง ทั้งนี้ ในเดือน มี.ค. ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ฐานเนรเทศเด็กชาวยูเครนไปยังรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาของยูเครนหลายครั้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรระหว่างประเทศจำนวนหนึ่ง ชี้ให้เห็นหลักฐานที่เพิ่มมากขึ้นว่า รัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครนจริง
ประธานาธิบดียูเครนยังเตือนต่อไปว่า จะต้องไม่มี "ข้อตกลงอย่างลับๆ" เพื่อพยายามยุติสงครามยูเครน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่ยุติธรรมที่รุนแรงที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ประเด็นสำคัญของเซเลนสกี คือการเตือนประชาคมระหว่างประเทศว่า ผลของสงครามจะส่งผลกระทบต่อทุกชาติ ทั้งนี้ เซเลนสกีกล่าวว่าเป้าหมายของรัสเซีย คือเปลี่ยนยูเครนให้เป็น "อาวุธต่อต้านคุณ ต่อต้านกฎระเบียบระหว่างประเทศ"
เซเลนสกีกล่าวว่า หลักเกณฑ์สันติภาพที่เขาร่างไว้มานานหลายเดือน ไม่ใช่แค่มีไว้สำหรับยูเครนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศในส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย โดยข้อความดังกล่าวของเซเลนสกี เป็นคำพูดที่ชัดเจนและมุ่งเป้าไปที่ประเทศต่างๆ หลายแห่ง อย่าง “ประเทศซีกโลกใต้” รวมถึงบราซิลและอินเดีย ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังคงรักษาท่าทีของตัวเอง ในการเข้ามาจัดการกับปัญหาสงครามยูเครน ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย
มหาอำนาจจากชาติตะวันตกต่างเร่งรัดชาติสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อความพยายามในการจัดการกับข้อกังวลของประเทศเหล่านั้นในวงกว้าง เกี่ยวกับปัญหาการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดียูเครนชื่นชมสุนทรพจน์ของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ไบเดนกล่าวเตือนถึงผลที่ตามมาอย่างร้ายแรง หากการรุกรานของรัสเซียในยูเครนยังไม่หยุดลง
“รัสเซียเชื่อว่าโลกจะเหนื่อยล้า และยอมให้เขาใช้ความรุนแรงโดยไม่มีผลตามมา ถ้าเรายอมให้ยูเครนถูกทำลายลง เอกราชของประเทศใดๆ จะปลอดภัยหรือไม่” ไบเดนกล่าวบนเวทีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
ในขณะเดียวกัน อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน ซึ่งได้จัดหาโดรนต่อสู้ให้กับรัสเซีย และถูกมองว่าเป็นพันธมิตรสำคัญของปูติน กล่าวหาสหรัฐฯ ว่าทำให้สงครามในยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น “สหรัฐอเมริกาได้กระพือเปลวไฟแห่งความรุนแรงในยูเครน เพื่อทำให้ประเทศในยุโรปอ่อนแอลง แต่น่าเสียดายที่นี่เป็นแผนระยะยาว” ไรซีกล่าวในที่ประชุม ณ มหานครนิวยอร์ก
ที่มา: