ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ สนับสนุนรัฐบาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างครบถ้วนและเคร่งครัด เพื่อสกัดกั้นและป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยล้วนเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ เก่ง และเป็นคนดี แต่ปรากฎในข่าวสื่อมวลชนบ่อยครั้งว่า มีบางมหาวิทยาลัยที่มีการทุจริต เกื้อหนุนเกื้อกูลระหว่างผู้บริหารในมหาวิทยาลัยร่วมกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตัวนายกสภามหาวิทยาลัย สร้างปัญหาให้กับระบบการศึกษาและงบประมาณของประเทศอยู่เช่นกัน ตรงนี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างภาระให้กับคนไทยทุกคน ทำให้รัฐบาลนี้ต้องออกกฎหมาย สร้างมาตรการมากมายมาควบคุม ส่งผลให้คนดีได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

ดร.มานะ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ต้องยื่นบัญชีอยู่แล้วเกือบ 40,000 คน และตามประกาศ ป.ป.ช. ใหม่ ทำให้มีผู้ต้องยื่นเพิ่มอีก 3,000 คน ที่รวมถึง องค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักธุรกิจเอกชน เป็นพ่อค้า หรือนักวิชาการด้วย แต่ขณะนี้มีเสียงโต้แย้งเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 81 มหาวิทยาลัยของรัฐ ประมาณ 500 คน 

"อยากให้ทางกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเจ้าของกฎหมายและเจ้าของเรื่องทำงานเชิงรุก คือ เดินสายไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้บริหารกรรมการสภามหาวิทยาลัยในจังหวัดต่าง ๆ ว่าใครติดขัด ไม่เข้าใจอะไร และทำความเข้าใจกัน อะไรที่คิดว่าเป็นเงื่อนไข เป็นวิธีการ หรือมีเอกสารที่ยุ่งยากเกินไป กรรมการ ป.ป.ช. จะได้รับทราบและแก้ไขทันที" ดร.มานะ กล่าว

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ทุกประเทศสมาชิกพึงกระทำในเรื่องจริยธรรมของข้าราชการที่ต้องมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันระบุไว้ด้วย เพราะฉะนั้นใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อยากให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ

“ความพยายามในการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่กำหนดมาตรการ เรียกร้องความร่วมมือจากประชาชน ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทำกันมาตลอดในช่วงหลายปีจะสูญเปล่า ประชาชนจะเริ่มคิดว่า ชนชั้นสูง คนมีอำนาจ คนร่ำรวย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อออกกติกาแล้ว พอถึงเวลาไม่ชอบก็จะไม่ยอมทำ แล้วอย่างนี้จะไปให้ความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันยังไง อันนี้เป็นสิ่งที่เรากลัว และสิ่งที่จะตามมาก็คือ คนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ จะเลือกทำในสิ่งที่เขาคิด เลือกทำในสิ่งที่มีโอกาส ตรงนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก” ดร.มานะ กล่าว