ไม่พบผลการค้นหา
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จัดพิธีลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง - ชมพู


เมื่อวันที่ (1 ธันวาคม 2560) นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะผู้แทนหน่วยงาน ได้ร่วมพิธีลงนามสัญญาจ้างงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) และสายสีชมพู (ช่วงแคราย – มีนบุรี) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ณ โรงแรมเซนต์ รีจีส

ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน. ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากล ได้ดำเนินการโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินโครงการครั้งนี้เป็นการก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินตลอดแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ระยะทาง 33 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 2,687,500,000 บาท และสายสีชมพู ระยะทาง 58 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 4,477,300,000 บาท มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564

ในด้านการก่อสร้าง กฟน. ได้ดำเนินการด้วยวิธี Pipe – Jacking (การดันท่อ) วิธี Horizontal Directional Drilling: HDD (การดึงท่อ) และวิธี Open Cut (การขุดเปิด) โดยแผนทั้งหมดได้บูรณาการร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างของทั้งสองหน่วยงานส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ถือเป็นการประสานแผนงานเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคร่วมกัน อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ กรมทางหลวง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการอำนวยความสะดวกระหว่างดำเนินโครงการ นอกจากนี้ กฟน. ยังได้จัดให้มีการชี้แจงแผนงานดำเนินโครงการกับประชาชน พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น เพื่อลดผลกระทบจากระหว่างการงาน ซึ่งจะเริ่มการก่อสร้างในช่วงเวลา 22.00 – 05.00 น. ของทุกวัน

ทั้งนี้ โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ดำเนินการ รวมระยะทาง 214.6 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564 ล่าสุดได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 43.5 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 20.3 อยู่ระหว่างดำเนินการ 43.8 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 20.4 และโครงการรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน 127.3 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 59.3 ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จ สามารถรองรับความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้น รวมถึงช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและความเชื่อถือได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานการพัฒนาสู่การเป็นมหานครไร้สาย Smart Metro

กฟน.