เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า ในวาระครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนา กฟน. ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งสู่ปีที่ 61 อย่างมั่นคง จากความมุ่งมั่นในการบริหารงาน คาดว่าผลประกอบการประจำปี 2561 นี้ การไฟฟ้านครหลวงจะมีกำไรสุทธิประมาณ 8,000 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมมากกว่า 210,000 ล้านบาท ฐานะทางการเงินมั่นคง และมีความสามารถในการลงทุนและชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้ กฟน. เร่งเดินหน้าแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ พร้อมเป็นผู้นำประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อขับเคลื่อนการเป็น “มหานครไร้สาย Smart Metro” ปัจจุบัน กฟน. ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 45.6 กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 169 กิโลเมตร โดยในปีนี้ กฟน. ยังมีพื้นที่จะดำเนินการ ได้แก่ โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 โครงการรัชดาภิเษก-อโศก โครงการตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และโครงการตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ถนนนานาเหนือ และถนนวิทยุ
ในด้านการพัฒนาคุณภาพงานบริการนั้น กฟน. มุ่งมั่นพัฒนาระบบการให้บริการและยกระดับคุณภาพงานบริการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นหน่วยงานให้บริการด้านระบบไฟฟ้าตัวแทนประเทศไทย ในการพิจารณาในการจัดอันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย (Doing Business) ของธนาคารโลก (World Bank) กฟน. ปรับปรุงกฏระเบียบ และพัฒนานวัตกรรมด้านงานบริการต่อเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขอใช้ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย MEA Smart Life Application และทางเว็บไซต์บริการขอใช้ไฟฟ้า MEASY อยู่ที่ไหนก็ขอใช้ไฟฟ้าได้ ทราบค่าใช้จ่ายทันที พร้อมชำระค่าบริการได้หลายช่องทางและติดตามสถานะการดำเนินงานได้ทุกขั้นตอน ประกอบกับ กฟน. มีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแผนที่ฐานเชิงรหัส (แผนที่ดิจิทัล) มาตราส่วน 1:1000 สารสนเทศเชิงพื้นที่ (Spatial Map) ที่ทันสมัยได้มาตรฐานมีความละเอียดและแม่นยำสูง และมีการจัดอบรมมาตรฐานการติดตั้งสายภายในให้แก่ผู้รับเหมาระบบไฟฟ้า ทั้งในกลุ่มบ้านพักอาศัย และกลุ่มธุรกิจ ทั้งหมดนี้ช่วยให้ระบบให้บริการ กฟน. สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้การจัดลำดับ Doing Business ของประเทศไทยด้านการขอใช้ไฟฟ้า ในปี 2562 ที่จะถึงนี้ ดีขึ้นกว่าปี 2561 ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และจะเป็นผลให้การขอใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย สะดวกรวดเร็ว ที่สุดในอาเซียนอีกด้วย รวมถึงการพัฒนาช่องทางการชำระค่าไฟฟ้าเพื่อความสะดวกเพิ่มเติม โดยร่วมมือกับ ธ.กรุงไทย พัฒนาระบบการรับชำระค่าไฟฟ้าจากลูกค้าด้วยระบบคิวอาร์โค้ดข้ามธนาคาร (QR Code Cross Bank) โดยใช้การสแกน QR Cross Bank บนใบแจ้งค่าไฟฟ้าได้ทันที
นอกจากนี้ กฟน. ยังพัฒนาเทคโนโลยีอันทันสมัยด้วย MEA Smart Life Application เพื่อให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1 ล้านครั้ง โดยมีฟังก์ชันเด่น ได้แก่ ตรวจสอบและชำระค่าไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิต Mastercard Visa Internet Banking BluePay Wallet และช่องทางเคาน์เตอร์เซอร์วิสด้วย Bar Code - QR Code ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แจ้งไฟฟ้าขัดข้องเพียง 2 คลิก ซึ่งรองรับด้วยระบบ FFM (Field Force Management) ทำให้สามารถแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ แสดงประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือนในรูปแบบกราฟที่ดูง่าย ไม่ซับซ้อน ทั้งยังสามารถแสดงสถานที่ชำระค่าไฟฟ้าและข้อมูลติดต่อสาธารณะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า พร้อมทั้งแสดงตำแหน่งกำหนดตามระยะทางได้ เช่น สถานีตำรวจ โรงพยาบาล สถานีดับพลิง เป็นต้น นอกจากนี้ กฟน. กำลังพัฒนาระบบแจ้งประกาศดับไฟ 1 ต่อ 1 เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งข้อมูลตรงเป้าหมายเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฟน. ได้จัดทำ MEA EV Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการตรวจสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การจองหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น โดย กฟน. พร้อมเดินหน้าเป็นผู้นำในการควบคุมจัดการระบบให้บริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อใช้กำกับดูแลและกำหนดหลักเกณฑ์ในการเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าในการสนับสนุนภาคธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทให้มีความเพียงพอ มั่งคง ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ซึ่ง กฟน. สนับสนุนอย่างเต็มที่โดยจับมือกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศ เช่น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งกระทรวงพลังงาน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ กฟน. ในการเดินหน้าสู่ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ภายในปี พ.ศ. 2579 นอกจากนี้ กฟน. ยังให้ความสำคัญกับผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยดำเนินโครงการ MEA Now เพื่อดูแลลูกค้ากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู ลาดกระบัง บางชัน และบางพลี ซึ่งในอนาคต จะมีการขยายโครงการดังกล่าว ไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ พร้อมทั้งพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มุ่งเน้นงานออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้า เช่น รัฐสภา 2 โรงพยาบาลรามาธิบดี บางพลี เป็นต้น พร้อมทั้งขยายธุรกิจการฝึกอบรมให้แก่ธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของ กฟน. สร้างรายได้มากกว่า 1,300 ล้านบาท รวมทั้ง กฟน. เตรียมเปิดศูนย์รวมช่างไฟฟ้ามืออาชีพที่ทันสมัยให้บริการที่ได้มาตรฐาน สะดวกสบาย ภายใต้การควบคุมคุณภาพของ กฟน. ผ่าน MEA E-Fix Application บริการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย พัฒนาคุณภาพงานบริการของ กฟน. เพื่อประชาชน
ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวต่อไปว่า กฟน. ยังคงขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ค่านิยม ระบบไฟฟ้ามั่นคง บริการมั่นใจ ห่วงใยสังคม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ ครอบคลุมการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ESG ซึ่งเป็นแนวทางที่ธุรกิจสากลทั่วโลก นิยมนำมาใช้เป็นแนวทางการจัดทำแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ กฟน. ได้รับรางวัล The Asia Responsible Enterprise Awards 2018 (AREA 2018) สาขา Green Leadership จากโครงการ “Smart Metro Poles for Thailand’s Coast Protection” ซึ่งเป็นโครงการที่ กฟน. นำเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนและไม่ใช้งานแล้วจากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในโครงการต่าง ๆ นำมาปักเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งหมดนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยมของ กฟน. ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต ด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย ที่พร้อมใช้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขับเคลื่อนความสุขของวิถีชีวิตสังคมเมือง และก้าวสู่วาระปีที่ 61 ของ กฟน. อย่างมั่นคง ทันสมัย และยั่งยืน “ก้าวสู่วิถีอนาคต Leveraging beyond Tomorrow”