ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจาก 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ซึ่งรวมตัวกันที่สิงคโปร์วันนี้ (24 เม.ย.) มีมติร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรงต่อการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย ไม่ว่าผู้ลงมือก่อเหตุจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม เพราะถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศขั้นร้ายแรง พร้อมย้ำว่า อาเซียนจะเฝ้าระวังและจับตาสถานการณ์ในประเทศซีเรียอย่างใกล้ชิด
อาเซียนเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียทุกฝ่าย หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และร่วมกันหาทางออกโดยใช้แนวทางสันติวิธีและการเจรจา อีกทั้งอาเซียนเป็นประเทศภาคีอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี จึงขอสนับสนุนให้คณะทำงานของขององค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) เข้าปฏิบัติหน้าที่ไต่สวนและรวบรวมข้อเท็จจริงกรณีการใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือนในซีเรีย โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในซีเรียร่วมมือกับคณะทำงานของ OPCW เนื่องจากสถานการณ์ภายในซีเรียมีส่วนเกี่ยวพันอย่างใหญ่หลวงกับสันติภาพและความมั่นคงของประชาคมโลก
แถลงการณ์ของอาเซียนครั้งนี้ถูกเผยแพร่ในช่วงเดียวกับที่ประเทศสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เสนอให้จัดประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในซีเรียระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ แทนการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เพื่อไม่ให้รัสเซียมีโอกาสใช้สิทธิการเป็นสมาชิกถาวร UNSC วีโต้คัดค้านข้อเสนอของนานาประเทศเพื่อยุติความขัดแย้งซีเรีย เพราะที่ผ่านมา รัสเซียใช้สิทธิวีโต้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับซีเรียไปแล้วทั้งหมด 11 ครั้ง ทำให้ไม่สามารถผลักดันแนวทางที่เป็นรูปธรรมออกมาได้
การใช้แก๊สพิษโจมตีพลเรือนซีเรียครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่เมืองดูมา เขตกูตาตะวันออก ไม่ไกลจากกรุงดามัสกัสของซีเรีย เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 40 ราย รวมเด็กและผู้หญิง แต่ไม่มีกลุ่มใดแสดงตัวเป็นผู้ก่อเหตุ
เมืองกูตาเป็นพื้นที่ปะทะต่อสู้ระหว่างกองทัพรัฐบาลซีเรียและกลุ่มติดอาวุธของฝ่ายกบฎ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่ากองทัพรัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้แก๊สพิษโจมตีพลเรือน โดยอ้างอิงข้อมูลหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ นำไปสู่การปฏิบัติการตอบโต้ทางอากาศเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยพุ่งเป้าที่คลังอาวุธและโรงงานผลิตสารเคมีของรัฐบาลซีเรีย
นอกจากนี้ นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของซีเรีย ได้แถลงประณามการโจมตีซีเรียของสามชาติพันธมิตรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้่าไปยังนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งเรียกร้องให้กองทัพสหรัฐฯ อยู่ในซีเรียต่อ เพื่อหาทางออกให้แก่สงครามความขัดแย้งในซีเรีย โดยลาฟรอฟระบุว่า ท่าทีของมาครงสะท้อนสภาพความเป็น 'อาณานิคม' ของฝรั่งเศสที่มีต่อสหรัฐฯ
ที่มา: ASEAN Organization/ The Guardian/ RT
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: