ไม่พบผลการค้นหา
ญี่ปุ่นเร่งพิจารณา ก.ม. ที่จะเปิดช่องให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มเติม รองรับสังคมสูงวัย แต่ 'ชาวต่างชาติ-สหภาพแรงงานญี่ปุ่น' จี้รัฐบาลแก้ปัญหาจากโครงการฝึกงานที่กลายเป็นข่าวอื้อฉาวฐานละเมิดสิทธิ-โกงค่าแรงเสียก่อน

โครงการฝึกงานด้านเทคนิค (TITT) เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและภาคเอกชน เพื่อดำเนินการจัดหาพนักงานฝึกงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 6 เดือน- 5 ปี ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 และมีการประชาสัมพันธ์ว่าพนักงานฝึกงานชาวต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้ประสบการณ์เพิ่มเติม รวมถึงทักษะเฉพาะด้าน แต่โครงการดังกล่าวตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยกรณีที่สำคัญที่สุด คือ การปล่อยให้พนักงานต่างชาติทำงานเสี่ยงอันตราย ถูกละเมิดสิทธิ คุกคามทางเพศ โกงค่าแรง และทำสัญญาจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

เมื่อเดือน มี.ค.2560 สื่อมวลชนทั้งต่างประเทศ และสื่อญี่ปุ่น ต่างเปิดโปงว่าโครงการ TITT ละเลยมาตรฐานความปลอดภัยของพนักงานฝึกงานต่างชาติ เพราะพนักงานจำนวนหนึ่งถูกส่งไปทำความสะอาดพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูดและสึนามิถล่มเมื่อ มี.ค.2554 จนทำให้เตาปฏิกรณ์เสียหายและเปิดปัญหานิวเคลียร์รั่วไหล และประชากรที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้ายังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปในพื้นที่

ล่าสุด อาซาฮีชิมบุน สื่อของญี่ปุ่นรายงานว่า พนักงานฝึกงานชาวฟิลิปปินส์ 20 คน จากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ TITT ทั้ง 90 คน ถูกส่งไปทำงานในโรงงานประกอบผลิตภัณฑ์ของ บริษัทฮิตาชิในจังหวัดยามะกุจิ ถูกบอกเลิกสัญญาจ้างงานก่อนกำหนดถึง 2 ปี ทั้งยังถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทางเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่กลุ่มแรงงานเหล่านี้ร้องเรียนเรื่องมาตรฐานการฝึกงานที่ไม่ได้เสริมสร้างทักษะเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวของอาซาฮีฯ ได้ตามไปสัมภาษณ์พนักงานฟิลิปปินส์กลุ่มดังกล่าวก่อนที่พวกเขาจะเดินทางออกนอกประเทศ และพบว่าผู้ถูกส่งกลับมีความรู้ระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเงื่อนไขในการว่าจ้างที่พวกเขาลงนามไปก่อนหน้านี้ระบุว่า พวกเขาจะได้รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องกับแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ แต่กลับถูกส่งไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ซ่อมท่่อน้ำหรือสร้างทางรถไฟ ซึ่งเป็นเงื่อนไขว่าจ้างแรงงานไร้ทักษะ


โรงงาน-อุตสาหกรรม-รถยนต์-ประกอบรถ-อะไหล่-คนงาน-แรงงาน-AP

นอกจากกรณีของพนักงานฟิลิปปินส์ ยังมีกรณีของวาร์ นู หญิงชาวเมียนมา วัย 27 ปี ทำสัญญากับบริษัทเสื้อผ้าแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการระบุว่าทางบริษัทจะให้เงินเดือนวาร์ นู ประมาณ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการทำงานตามเวลาปกติและค่าล่วงเวลา แต่เมื่อได้ไปทำงานจริง พบว่าเธอต้องทำงานตั้งแต่ 07.00 น. จนถึง 22.00 น.แทบทุกวัน แต่ได้รับเงินเดือนเพียงครึ่งเดียว ทั้งยังต้องเจอกับการคุกคามทางวาจาของหัวหน้างาน แต่เธอไม่สามารถเปลี่ยนที่ทำงานได้ เพราะติดเงื่อนไขในสัญญาจ้างงานภายใต้โครงการ TITT

วาร์ นู ได้นำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียนสหภาพแรงงานชาวเมียนมาในญี่ปุ่น ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและล่ามในการดำเนินเรื่องเจรจากับผู้ว่าจ้าง ทำให้วาร์ นู และเพื่อนชาวเมียนมา เปลี่ยนที่ทำงานและได้รับสวัสดิการคุ้มครองที่เป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงได้รับค่าจ้างที่ค้างจ่ายจากที่ทำงานเดิม

อย่างไรก็ตาม มินต์ ส่วย ประธานสมาคมแรงงานในอุตสาหกรรมเหล็ก จักรกล และการผลิตแห่งญี่ปุ่น (JAM) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานชาวเมียนมาที่มีสมาชิกมากเป็นอันดับต้นๆ ในญี่ปุ่น ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายเพื่อเปิดรับแรงงานต่างชาติอย่างถูกต้องและเต็มรูปแบบ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการฝึกงานและยังไม่ได้รับการแก้ไข บ่งชี้ว่าความพยายามของรัฐบาลอาจไม่ได้ผล เพราะยังมีนายจ้างจำนวนมากที่เอารัดเอาเปรียบพนักงานต่างชาติเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

วอชิงตันโพสต์และฮิวแมนไรท์วอทช์รายงานอ้างอิงข้อมูลของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ตรวจพบนายจ้างที่เข้าร่วมในโครงการ TITT กว่า 4,000 แห่ง หรือกว่าร้อยละ 70 ของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ละเมิดมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ส่วนใหญ่เป็นการทำงานต่อเนื่องเกินเวลาโดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลา ค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่มีอุปกรณ์หรือมาตรการรักษาความปลอดภัยของพนักงาน ทำให้พนักงานตัดสินใจหลบหนี รวมกว่า 4,300 คนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

ส่วนพนักงานที่เข้าร่วมโครงการเหล่านี้มักจะมาจากประเทศเมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน

ที่มา: Asahi Shimbun/ Human Rights Watch/ Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: