ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.ศูนย์สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี ชี้เด็กติดในรถโรงเรียนจนเสียชีวิต ไม่ใช่การลืมแต่เป็นการบกพร่องในหน้าที่ คนขับ โรงเรียน ต้องร่วมรับผิดชอบ ย้ำสถิติเด็กติดในรถโรงเรียนมีเฉลี่ย 2-3 รายต่อปี

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีการลืมเด็กนักเรียนในรถว่า ปัญหาการหลงลืมเด็กในรถหากเป็นในส่วนของพ่อแม่ อาจใช้คำว่าหลงลืมได้ เพราะอาจต้องเร่งรีบไปทำงาน ไปประชุมหรือระหว่างการทำงานบ้านลืมเปิดประตูทิ้งไว้ เด็กเผลอขึ้นรถไปไม่รู้ตัว เหล่านี้อาจเรียกว่าลืมได้ แต่สำหรับคนที่ทำหน้าที่รับส่งเด็กนักเรียนในโรงเรียน ไปรับจากบ้านมาส่งโรงเรียน ไม่อาจเรียกว่า หลงลืมได้ ต้องเรียกว่าบกพร่องในหน้าที่ เพราะมีการรับจากบ้านมา 5-10 คน และมีการส่งโรงเรียน มีการจ้างและได้รับความไว้วางใจ จากผู้ปกครองและโรงเรียน ไม่อาจปฏิเสธหรือละเลยหน้าที่ได้ ทำไมถึงไม่มีการนับจำนวน เด็กก่อนขึ้นและหลังลง เรื่องแบบนี้ต้องทำเป็นกิจวัตร การหลงลืมเด็กสำหรับรถโรงเรียนถูกกำหนดโดยระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการแล้วว่าต้องเป็นอำนาจในความรับผิดชอบของโรงเรียน เพื่อให้เกิดการควบคุม ไม่เช่นนั้นจะขาดคนดูแลทั้งคนขับ และโรงเรียนต้องรับผิดชอบเรื่องนี้

“ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการรับส่งเด็กต้องมีการตรวจนับจำนวนเด็กก่อนและหลัง จะอ้างหลงลืม เผลอเรอไม่ได้ เพราะคือหน้าที่หากเป็นกรณีรถรับส่งในศูนย์เด็กเล็ก อปท. ยิ่งต้องควบคุมดูแล” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ส่วนกรณีการฝึกทักษะให้กับเด็กในการช่วยเหลือตัวเองกรณีติดอยู่ในรถ รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ทำได้แต่ต้องเข้าใจว่าโอกาสการพบเจอปัญหาเด็กติดในรถ มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เพราะหากอายุเกินกว่านี้ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยการฝึกฝน ทำได้ให้เด็กหัดกดแตรให้เสียงดัง เพื่อเกิดการช่วยเหลือ หรือ การฝึกเปิด-ปลดล็อกประตู เพื่อช่วยเหลือตัวเอง แต่อย่าลืมว่า เด็กเล็กยังขาดการจดจำ หรือทักษะในการใช้เหตุผล แก้ปัญหา ตกใจ อาจหลงลืม ดังนั้นเราไม่สามารถคาดหวังได้ว่า เด็กจะทำได้ทุกคน บางคนตกใจ ยิ่งร้องไห้หนัก ร้องมาก ขาดอากาศหายใจ ทำให้โอกาสรอดชีวิตยิ่งน้อยลง

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลการเกิดปัญหาเด็กติดในรถ พบเฉลี่ยปีละ 2-3 รายต่อปี ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 6 ปี เป็นเด็กในกลุ่มชั้นอนุบาล1-2 เกิดขึ้นรถโรงเรียนหรือรถบ้านที่มีผู้ปกครองรับส่ง แต่ประเทศไทยไม่ได้มีการเก็บข้อมูลชัดเจน บางปีก็มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากถึง 4 ราย โดยระยะเวลาการเสียชีวิต เฉลี่ยติดอยู่ในรถ2-3 ชั่วโมงเท่านั้น โดยการทดลองพบว่า หากอุณหภูมิภายนอกของรถยนต์สูง 30 องศาเซลเซียส แต่ภายในรถกลับสูงถึง42 องศาเซลเซียส หากเด็กยิ่งร้องไห้ อุณหภูมิในร่างกายยิ่งค่อยๆ ปรับสูงขึ้น จากปกติ 37 องศาเซลเซียสก็จะเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ จนในที่สุด ร้อนจนเกินร่างกายรับไหว ตัวแห้ง ร่างกายขาดน้ำ เป็น ฮีทสโตรก และเสียชีวิตในที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เด็กที่เสียชีวิตในรถนักเรียนที่รวบรวมจากเหตุการณ์ที่เป็นข่าว ระหว่างปี 2555-2559 พบว่ามี 5 คน โดยเป็นเด็กอายุระหว่าง 3 -4 ปี เหตุเกิดที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ , สมุทรปราการ, ศรีสะเกษ , นครศรีธรรมราช และสมุทรปราการ