ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์ นักวิชาการ และเครือข่ายคุ้มครองเด็ก วอนรัฐผ่านร่าง พ.ร.บ.กีฬามวยเด็กใหม่ ปกป้องสมองเด็กไทย พร้อมส่งเสริมเป็นวัฒนธรรมและกีฬาสมัครเล่น โดยมีกฎกติกาที่เหมาะสมตามอายุ

ศาสตรจารย์แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ก้าวเข้าสู่วงการมวยไทยตั้งแต่ยังเล็กและเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประมาณ 2-3 แสนคนทั่วประเทศ ด้วยประสบการณ์ที่น้อยประกอบกับกติกาการชกที่เน้นความรุนแรง เด็กย่อมเสี่ยงต่อการบาดเจ็บอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อสมอง จากการวิจัยการบาดเจ็บในสมองของนักมวยเด็กโดยวิธี MRI (Magnetic Resonance Imaging) ผลการ MRI สมองนักมวยเด็ก 323 คน เปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปที่ไม่ได้ชกมวย 253 คน พบว่า นักมวยเด็กจะประสบกับภาวะ ดังนี้ 

สมองเสื่อมก่อนวัย การทำงานของสมองด้านความจำลดลง สามารถนำไปสู่การบกพร่องทางปัญญาหรือภาวะสมองเสื่อมได้ จะส่งผลต่อการศึกษาเล่าเรียน และการดำรงชีวิตของพวกเขาในอนาคต

7E2D0DD9-7423-42D3-A1DC-CFCD97F43DB1.jpeg

ระบบประสาทเสียหาย - เซลล์สมองและใยประสาทฉีกขาดและถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ นักมวยเด็กมีเลือดออกในสมองจากการถูกชกที่ศีรษะบ่อยครั้ง ทำให้มีธาตุเหล็กซึ่งเป็นสารพิษสะสมในเนื้อสมอง ยิ่งชกนานไอคิวยิ่งลด 

ทั้งนี้ ไอคิว หรือระดับสติปัญญาของเด็กไทยทั่วไปอยู่ระหว่าง 90-110 คะแนน (สามารถเรียนจบอนุปริญญาหรือปริญญาตรีได้) แต่ไอคิวของเด็กชกมวยน้อยกว่าเด็กทั่วไปเกือบ 10 คะแนน และยังลดลงต่อเนื่องตามระยะเวลาในการชก นักมวยเด็กที่ขึ้นชกมากกว่า 5 ปี มีไอคิว 84 คะแนน (คะแนน 80-89 จะสามารถเรียนจบ ม.ปลายเท่านั้น

20720B74-1CC5-4F41-B1FE-EE7C7FDAE5CB.jpeg

“เด็กเหล่านี้จะใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อหยุดชก หากโตไปแล้วไม่ได้เข้าสู่วงการมวยอาชีพ ไม่ได้เป็นนักกีฬามวยระดับชาติจะกลับเข้าสู่สังคม และใช้ชีวิตปกติได้อย่างไรในสภาพสมองที่บอบช้ำ พร้อมระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าคนทั่วไป และอาจมีโรคทางประสาทในอนาคต เช่น อัลไซเมอร์ (หลงลืม) และพากินสัน (สั่น) ในอนาคตจะเป็นภาระต่อคนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง” ศาสตรจารย์แพทย์หญิงจิรพร กล่าว

ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันการชกมวยเด็กเป็นลักษณะมวยอาชีพได้รับค่าตอบแทน ซึ่งเป็นการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งในระดับสากลโดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา ระบุว่ามวยเด็กเป็นการทารุณกรรมและเป็นการใช้แรงงานเด็กในขั้นเลวร้ายที่สุด และเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Tier 3 ด้านการค้ามนุษย์​ ในรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

ฉะนั้น มวยไทยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องเป็นเพียงวัฒนธรรมและกีฬาสมัครเล่น ที่มีกฎกติกาที่เหมาะสมตามอายุ ต้องไม่เป็นอาชีพ ไม่ทดแทนคุณ ไม่ทารุณกรรม และไม่เป็นการพนัน ควรฝึกมวยในเชิงวัฒนธรรมและสุขภาพให้เป็นกีฬาแบบไม่ปะทะ (Non-contact Sport) โดยปรับเปลี่ยนกฎกติกาและหาอุปกรณ์ รวมทั้งมาตรการต่างๆ จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามาลดผลกระทบต่อสมอง และมีการดูแลนักมวยหลังหยุดชกอย่างเหมาะสม

8B3045B5-81E7-4D7A-A4D5-4A74401F8C2B.jpeg

“ไม่มีอายุใดที่จะปลอดภัยต่อการถูกชกที่ศีรษะ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ สมองมนุษย์เรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงวัยชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้ใหญ่ไม่ควรใช้สิทธิ์ตัดสินให้พวกเขาถูกทำร้าย จากผลการวิจัยดังกล่าวหน่วยงานเกี่ยวข้อง ต้องตระหนักต่อปัญหานักมวยเด็ก และนำไปสู่การแก้ไข พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 เพื่อกำหนดให้มวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นการแข่งขันที่ต้องมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.มวยฉบับใหม่ จะมีผลต่อสังคมไทยได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ ผู้ชกมวย ครอบครัวเด็ก และประชาชนไทย” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นายแกรี่ เอ. สมิธ เครือข่ายป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวเสริมว่า ในสหรัฐฯ สั่งห้ามไม่ให้มีการชกมวยในเด็ก เพราะผลวิจัยยืนยันว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อสมองและไอคิว เนื่องจากมีการกระแทกอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับกีฬาอเมริกันฟุตบอล ดังนั้น การปกป้องเด็กให้พ้นจากการบาดเจ็บและอันตราย จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในสังคมและรัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อปกป้องอย่างจริงจัง ให้เด็กสามารถพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

A339D35A-AB5C-46D1-98BD-53565729922B.jpeg