ไม่พบผลการค้นหา
ครบเจ็ดปีแล้วที่ ‘Insects in the Backyard: แมลงรักในสวนหลังบ้าน’ ถูกตีตราให้เป็นภาพยนตร์โดนแบน แต่หลังจากต่อสู้มายาวนาน ในที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ลงโรงฉายแล้ววันนี้เพื่อสะท้อนสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

“เจ็ดปีที่โดนแบนมันคุ้มมาก มันไม่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงินแน่นอน” กอลฟ์ - ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวไม่กี่ชั่วโมงก่อนการฉาย ‘Insects in the Backyard’ รอบพิเศษเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ย้อนไปเมื่อเก้าปีก่อน คนในวงการภาพยนตร์ต่างมีความหวังหลังภาครัฐประกาศใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เพราะมีการนำระบบจัดเรตติ้งมาใช้แทนการเซ็นเซอร์และแบนภาพยนตร์ ตามพระราชบัญญัติฉบับเก่าที่ออกมาตั้งแต่ปี 2473 แต่แล้วนักทำหนังและคนรักหนังก็ต้องอกหัก เมื่อมีภาพยนตร์ได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้ระงับฉายในปี 2553 โดยให้เหตุผลว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ภาพยนตร์เรื่องนั้นมีชื่อว่า ‘Insects in the Backyard’ ที่ได้ฉายเปิดตัวไปในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ หรือ World Film ในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น และยังได้เดินสายไปฉายในหลายเทศกาลต่างประเทศมาแล้ว

ศาลบอกว่าหนังเราไม่ได้ผิดศีลธรรมอันดี แต่มีผิดกฎหมายสามวินาที เพราะว่าเป็นหนังโป๊ สิ่งนี้เรารู้สึกว่าเราชนะ


แม้ได้รับข้อเสนอให้นำภาพยนตร์ไปตัดต่อใหม่ แต่ธัญญ์วารินตัดสินใจต่อสู้เพื่อภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกในชีวิต ด้วยการจับมือกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองในเดือนมีนาคม 2554 เพื่อคัดค้านคำตัดสินของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ แต่คดีกลับไม่คืบหน้าจนกระทั่งสี่ปีให้หลัง ที่ศาลได้นัดคู่กรณีเข้ากระบวนการพิจารณาคดีเป็นครั้งแรก ก่อนศาลปกครองจะตัดสินในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ว่า หากตัดฉากร่วมเพศที่เห็นอวัยวะเพศเป็นเวลาสามวินาทีออกไป จะสามารถฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ในเรต ฉ. 20

“สิ่งที่ ‘Insects in the Backyard’ ได้ให้ หรือกระบวนการที่เราฟ้องศาลปกครองเองก็ตาม เราว่าสังคมได้อะไรมากกว่าที่เราจะใช้เงินซื้อด้วยซ้ำ” ธัญญ์วารินอธิบาย “ศาลยกฟ้องคือเราแพ้ แต่สิ่งที่เราฟ้องร้องคือคณะกรรมการแบนเราเพราะว่าหนังเราผิดศีลธรรมอันดี ไม่ได้บอกว่าหนังเราผิดกฎหมาย แต่ศาลบอกว่าหนังเราไม่ได้ผิดศีลธรรมอันดี แต่มีผิดกฎหมายสามวินาที เพราะว่าเป็นหนังโป๊ สิ่งนี้เรารู้สึกว่าเราชนะ เพราะฉะนั้นตรงนี้แหละ คณะกรรมการเรตติ้งได้เรียนรู้ว่าการจะตัดสินหนังเรื่องหนึ่งว่าผิดศีลธรรมอันดีนั้น มันควรจะมีข้อมูลหรือความคิด วิจารณญาณ ดุลยพินิจอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีและชัดเจนว่าการที่จะบอกว่าหนังเรื่องไหนผิดศีลธรรมนั้นเอามาตรฐานอะไรมาวัด”

การได้ฤกษ์ลงโรงฉายในวันที่ 30 พฤศจิกายน ด้วยเรต ฉ.20- จึงเป็นการพิสูจน์ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ดังที่โดนตีตราไปก่อนหน้า

“การที่เราทำหนังแล้วโดนแบนก็เหมือนตราบาปที่โดนตีตรา เป็น ‘Scarlet Letter*’ อยู่บนหน้าผากว่าแบบ มึงชั่ว มึงเลว มึงเป็นคนไม่ดี ทำหนังโดนแบน ทำหนังไม่ดี ทำหนังผิดศีลธรรม เราโดนตราตรงนั้นมาโดยตลอด พอเราไม่โดนแบนแล้ว พอเราได้เรตมาแล้ว และกำลังจะได้ฉายวันนี้แล้ว เจ็ดปีที่รอคอย มันเลยรู้สึกว่าวันนี้มันโล่ง เหมือนยกภูเขาออกจากอก ความผิดทั้งหมดที่เคยมีมา เราได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเราไม่ได้ทำผิดอะไร”


ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ Insects in the Backyard


สำหรับฉากที่ศาลตัดสินว่าผิดกฎหมายสามวินาทีนั้น ผู้กำกับเลือกที่จะคงเฟรมนั้นไว้ แต่ทำให้เป็นสีดำทั้งหมดเพื่อกลบภาพที่มีปัญหาดังกล่าว เพื่อที่ผู้ชมจะได้รับทราบโดยทั่วกันว่านี่คือจุดที่ถูกตัดไป โดยธัญญ์วารินพอใจกับเรตติ้ง ฉ.20- ที่ได้รับ เพราะเป็นเรตที่ตั้งใจขอไว้ตั้งแต่เจ็ดปีก่อน

“เป็นความตั้งใจเราแต่แรกอยู่แล้วว่าไม่ต้องการให้เด็กดู หนังเราต้องการให้คนที่มีวุฒิภาวะ นิติภาวะเรียบร้อยแล้ว อายุ 20 ปีขึ้นไปถึงจะดูหนังได้” ธัญญ์วารินกล่าว “ความตั้งใจแรกของหนังเรื่องนี้ทำเพื่อเฉลิมฉลอง พ.ร.บ. เรตติ้ง เพราะเราอยากเป็นหนัง ฉ.20 เรื่องแรกของประเทศไทย แต่ปรากฏกลายเป็นหนังโดนแบน คือมันเกินเลยไปนิดนึง เกินความคาดหวัง”


ความเข้าใจของคนในสังคมมันเริ่มจากครอบครัว ถ้าครอบครัวไม่เข้าใจ มันก็จะเกิดปัญหาที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต


เวลาที่ผ่านพ้นไป แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบกับภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่น้อย โดยในปี 2555 ธัญญ์วาริน เคยไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพราะภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอที่โดนแบนกลับถูกนำไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์อย่างผิดกฎหมาย พร้อมกับภาพยนตร์ถูกแบนเรื่องที่สองของไทยหลังการจัดเรตติ้งอย่าง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ซึ่งมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับ ได้เดินทางไปแจ้งความด้วยเช่นกัน

“ตอนนั้นเราโดนละเมิดลิขสิทธิ์ก็ไปแจ้งความหน่วยงานลิขสิทธิ์ทางปัญญา หลายอย่าง เพื่อที่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งตอนนั้นก็ตามจับไม่ได้ว่ามันถูกปล่อยมาจากไหน อย่างไร แต่เวลาผ่านไปมันก็หายไปนะ” ธัญญ์วารินกล่าว พร้อมแสดงความมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการกลับมาฉายโรงของ ‘แมลงรักฯ’ อย่างแน่นอน เพราะได้รีมาสเตอร์ภาพยนตร์และแก้สีใหม่ เพื่อให้เป็นมิตรกับคนดูมากขึ้น


Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน


‘Insects in the Backyard’ นำเสนอเรื่องราวของ ‘ธัญญ่า’ กะเทยที่พยายามสร้างครอบครัวที่เป็นสุข โดยเธอพยายามมอบความรักให้กับน้องสาวและน้องชายวัยเรียน แต่พวกเขากลับยิ่งหนีห่างออกไป ซึ่งสะท้อนหนึ่งในปัญหาที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศประสบในชีวิตจริง

“เราก็เป็นคนชัดเจนในงานตัวเองมาโดยตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่ทำหนังสั้นจนมาถึงหนังยาว เราก็พูดถึงสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิที่มีเหนือร่างกายตัวเอง แต่เราจะพูดถึงปัญหาที่มันตามมากับสังคมที่ยังไม่เข้าใจ” ธัญญ์วารินกล่าว

“‘Insects in the Backyard’ เราพูดถึงปัญหาตรงนี้ชัดเจนเลยว่า ความเข้าใจของคนในสังคมมันเริ่มจากครอบครัว ถ้าครอบครัวไม่เข้าใจ มันก็จะเกิดปัญหาที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นถ้าเราจะแก้ปัญหา เราต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจในครอบครัวของเราก่อนว่าคนในครอบครัวยังมีความหลากหลายและเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องความหลากหลายทางเพศนะ เอาแค่เราเข้าใจลูกเราหรือยัง เราเข้าใจพ่อแม่เราดีหรือยัง เรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคม และเราก็ทำเรื่องแบบนี้ผ่านหนังของเรามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ‘Insects in the Backyard: แมลงรักในสวนหลังบ้าน’ หรือ ‘It Gets Better: ไม่ได้ขอให้มารัก’”


Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน


การสร้างสรรค์ผลงานที่มุ่งสะท้อนสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทำให้ธัญญ์วารินเลือกเปิดตัวภาพยนตร์ ‘Insects in the Backyard’ พร้อมจัดเสวนาพูดคุยถึงทิศทางความหลากหลายความเพศในไทย ร่วมกับ พอลลีน งามพริ้ง และนัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (For-SOGI) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ

โดยวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ เริ่มนับจากวันที่ น้ำหวาน - สามารถ มีเจริญ และเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองในปี 2549 ให้เพิกถอนข้อความที่ระบุว่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ "เป็นโรคจิตถาวร" ออกจากเอกสารราชการ โดยเฉพาะใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (สด. 43) และทำให้กระทรวงกลาโหมแก้ไขข้อความเป็น "ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" ในปี 2555 ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย

ธัญญ์วารินมองว่าสถานการณ์ด้านสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยได้พัฒนาขึ้นไม่น้อยเมื่อเทียบกับเจ็ดปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนออกมาชัดเจนผ่านสื่อ


ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ Insects in the Backyard

(จากซ้ายไปขวา) พอลลีน งามพริ้ง - นัยนา สุภาพึ่ง - ธัญญ์วารินทร์ และพิธีกร


คนเราไม่ได้มีสองเพศในสังคม ในโลกใบนี้เรามีอีกหลากหลายสีสันมากมาย อีกหลากหลายรสนิยม ซึ่งเราอาจไม่เคยรู้


“เราสังเกตไหมว่าเจ็ดปีที่แล้ว หนัง ละคร ซีรีส์ต่าง ๆ จะมองคนที่มีความหลากหลายทางเพศมุมเดียว มิติเดียว แต่ตอนนี้พื้นที่สื่อมีซีรีส์ที่มีคนหลากหลายทางเพศชัดเจน เรามีกลุ่มคนดูชัดเจน เรามีหนังไม่ว่าจะเป็นหนังไทย หรือหนังออสการ์เองก็มีหนังเกย์ หนังที่มีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็มีสิทธิได้ Best Picture สิทธิความหลากหลายทางเพศก็มีมากขึ้น คนในสังคมเข้าใจเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างกันทางรสนิยมมากขึ้น เราต้องเข้าใจก่อนว่าคนในสังคมไม่ได้มีหน้าตาหรือรสนิยมเหมือนกันไปทั้งหมด ตอนนี้เรารู้สึกว่าคนก็เริ่มตระหนักรู้ถึงคนที่มีความแตกต่างอยู่ในสังคมกันมากขึ้นจากเมื่อก่อนนี้”

ผู้กำกับวัย 44 ปี มองว่าโซเชียลมีเดียมีบทบาทไม่น้อยในการช่วยให้ผู้คนในสังคมเข้าใจและยอมรับกันมากขึ้น

“เมื่อก่อนเราจะเรียนรู้ชีวิตคนอื่นได้จากการรู้จักเพื่อนฝูง หรือจากการดูละคร ดูหนัง แต่ทุกวันนี้เราสามารถเรียนรู้ชีวิตคนอื่นที่แตกต่างจากเราได้ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งมันชัดเจนมากกว่า คนในเฟซบุ๊กที่เขาแชร์กันมามีความหลากหลาย มีทอมคบกับกะเทย มีคนเพศเดียวกันแต่งงานกัน มันทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในสังคมว่า คนเราไม่ได้อยู่แบบที่มีสองเพศบนโลกใบนี้ กอล์ฟว่ามันเปลี่ยนไปเยอะมาก ๆ จากเจ็ดปีที่แล้ว”

โดยธัญญ์วารินสะท้อนว่า การเรียนรู้และเข้าใจในความแตกต่างของผู้คนในสังคมสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมประเด็นเรื่องสิทธิต่อไป

“บางทีกฎหมายมาแล้วคนในสังคมอาจไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่เราอยากให้เกิดมากที่สุดคือ การเรียนรู้และเข้าใจคนในสังคม คือตอนนี้ก็มีคนเข้าใจมากขึ้น แต่ก็มีคนส่วนมากที่ยังไม่เข้าใจอยู่” ธัญญ์วารินกล่าว “เพราะฉะนั้นมันถึงต้องมีวันนี้ขึ้นมา เพื่อจะบอกว่าเรามีอยู่แล้วนะ ไม่ต้องส่งเสริมให้เรามี เรามีอยู่แล้วจริง ๆ เราก็มีสิทธิเป็นมนุษย์เหมือนทุกคนเหมือนกัน”


ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง มันก็จะพังๆหน่อย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

(จากซ้ายไปขวา) ผู้กำกับ ‘#มันก็จะพัง ๆ หน่อย’ อภิรักษ์ ชัยปัญหา ร่วมกับนักแสดง สิรภพ สมผล และธัญญ์วารินทร์ ขึ้นรับรางวัล Best Performance by an Ensemble ในเทศกาลละครกรุงเทพ / ภาพ: ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง

นอกจากการกำกับภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ ธัญญ์วารินยังหลงใหลในการแสดง ซึ่งนอกจาก ‘Insects in the Backyard’ แล้ว ธัญญ์วารินยังรับงานแสดงที่หลากหลายในปีนี้ รวมถึงการหวนคืนละครเวทีครั้งแรกในรอบ 30 ปีกับเรื่อง ‘#มันก็จะพัง ๆ หน่อย’ โดย Blank Space Theatre ในเทศกาลละครกรุงเทพ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้คว้ารางวัลนักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม (Best Performance by an Ensemble) จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง

“ปกติเราก็อยากเป็นนักแสดงอยู่แล้ว อย่างเรื่องนี้ (Insects) แต่ไม่ได้แสดงเองมานานมาก แล้วพอได้มาแสดงบทที่มีเนื้อมีหนังมากขึ้นอย่าง “การกลับมา” หรือเล่นละครเวทีก็รู้สึกสนุก ท้าทาย และอยากทำงานทางนี้มากขึ้นด้วย” ธัญญ์วารินกล่าว “จริง ๆ ที่ไปเล่นละครเวทีเพราะอยากทำ เราเริ่มต้นมาจากทำละครเวที เราก็อยากเข้าไปมีส่วนร่วมก่อน เพราะเราก็มีแผนที่จะทำละครเวทีในปีหน้าด้วย แล้วก็จะทำหนังเรื่องใหม่ที่เล่นเองด้วย”

การันตีได้ว่าในปีหน้าจะได้ชมทั้งผลงานการแสดงของธัญญ์วารินทั้งในรูปแบบภาพยนตร์และละครเวที แต่จนกว่าจะถึงวันนั้น คงต้องไปร่วมกันพิสูจน์ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของธัญญ์วารินอย่าง ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน: Insects in the Backyard’ กันก่อน

“หนังเรื่องนี้บอกเลยว่าต้องเปิดใจให้กว้างแล้วก็ดู เราจะรับรู้ว่าคนเราไม่ได้มีสองเพศในสังคม ในโลกใบนี้เรามีอีกหลากหลายสีสันมากมาย อีกหลากหลายรสนิยม ซึ่งเราอาจไม่เคยรู้ เราน่าจะมาทำความรู้จัก เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ก็อยากให้ทุกคนมาดูด้วยตา ตัดสินด้วยหัวใจ เปิดใจให้กว้าง และก็ลองพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน: Insects in the Backyard’ เป็นอย่างไร เมื่อดูแล้ว ตัดสินแล้วว่าชอบ ไม่ชอบ ก็ฟีดแบ็กมาได้ กอล์ฟพร้อมเปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็น”

‘Insects in the Backyard’ เข้าฉายเฉพาะที่โรงภาพยนตร์ House RCA


Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน


* The Scarlet Letter เป็นนวนิยายที่เขียนโดยนักเขียนอเมริกัน นาทาเนียล ฮอว์ทอร์น (Nathaniel Hawthorne) ในปี 2393 เล่าถึง เฮสเตอร์ พรินน์ (Hester Prynne) หญิงสาวผู้ถูกประฌามว่าคบชู้ในสังคมเคร่งศาสนา ซึ่งเธอยอมรับตราบาปแต่เพียงผู้เดียว และพยายามสร้างชีวิตใหม่ที่มีศักดิ์ศรี