กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัญหาสุขภาพจิตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปี 2558 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านจิตเวช 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านคน ในปี 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา พบว่า ภาวะเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟสูงขึ้นทั้งหมด ข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ จากกรมสุขภาพจิต ปีงบประมาณ 2562-2566 พบว่า แนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 7.26 เป็น 7.94 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มวัยทำงานอายุ 20-59 ปี มีจำนวนฆ่าตัวตายมากสุด แต่กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด คือ 10.39 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่จำนวนคนพยายามฆ่าตัวตายปี 2566 มีถึง 25,578 คน โดยกลุ่มวัยรุ่น/นักศึกษา อายุ 15-19 ปี มีอัตราพยายามฆ่าตัวตายสูงสุด คือ 116.81 ต่อประชากรแสนคน
ข้อมูลกรมสุขภาพจิตในปี 2565 พบว่า วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ โดยวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี ร้อยละ 17.6 เคยมีความคิดทำร้ายตนเองซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่น นอกจากนี้ ยังพบปัญหา การกลั่นแกล้งรังแกกัน ปัญหาความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง หรือการถูกทารุณกรรม ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช (AIMET) ที่ประเมินว่า มีเยาวชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจพบอาการซึมเศร้าสูงถึง 2,200 ต่อประชากรแสนคน
สิ่งสำคัญคือการทำให้ผู้ที่เริ่มมีป้ญหาสุขภาพจิตได้เข้าถึงบริการ โดยเฉพาะการประเมินและให้คำปรึกษาต่อภาวะซึมเศร้า ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression (DMIND) เพื่อคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า มีความแม่นยำ เข้าถึงง่าย ใช้สะดวก ช่วยลดภาระงานของแพทย์และนักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งมีการเชื่อมต่อช่องทางการสื่อสารกับไลน์ "หมอพร้อม" โดยเลือกเมนูคุยกับหมอพร้อม (Chatbot) และเลือกเมนูตรวจสุขภาพใจ เพื่อตอบคำถามจากข้อความคุณลักษณะเฉพาะ พร้อมมีระบบ ตรวจจับการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และประเมินภาวะซึมเศร้าเป็นคะแนน 4 ระดับ คือ ปกติสีน้ำเงิน เสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงน้อยสีเขียว เสี่ยงปานกลางสีเหลือง ซึ่งกลุ่มนี้นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับให้คำปรึกษาภายใน 7 วัน และเสี่ยงรุนแรงสีแดง จะติดต่อกลับภายใน 1-24 ชั่วโมง
ข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 - ธันวาคม 2566 พบว่า มีผู้ใช้บริการ DMIND ทำแบบประเมินสุขภาพจิต 180,993 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่ปกติ 18,906 ราย ผู้มีความเสี่ยงน้อย 113,400 ราย ผู้มีความเสี่ยงปานกลาง 33,039 ราย และผู้มีความเสี่ยงรุนแรง 15,648 ราย หรือคิดเป็น 8.1% ซึ่งมีการยินยอมให้ติดตาม 1,118 คน ติดตามสำเร็จ 778 คน โดยกระบวนการติดตามจะดูว่ามีกรณีเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือไม่ หากเสี่ยงรุนแรงจะส่งต่อไปยัง Hope Task Force ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตายให้การดูแล ทั้งนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง DMIND กับระบบหมอพร้อมทำให้การดำเนินงานสะดวกมากยิ่งขึ้น ในอนาคตจึงอาจมีการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ให้มากขึ้น
นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ “อบรมพัฒนาและยกระดับศักยภาพครู” หรือ “ครูแคร์ใจ” เพื่อให้ครูมีความรู้และทักษะสำคัญในการส่งเสริม ป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นในสถานศึกษาได้ โดยเน้นความรู้และทักษะที่จำเป็น อาทิ ทักษะการฟัง Deep Listening การป้องกันความรุนแรงและการกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียน การคัดกรองความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต โดยนำร่องรุ่นที่ 1 ในสถานศึกษาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จากนั้นจะขยายผลทั่วประเทศต่อไป
ในส่วนของการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตนักเรียน มีแอปพลิเคชัน School Health Hero ซึ่งมีการเฝ้าระวังปัญหาทางด้านสุขภาพจิตนักเรียน หากพบความเสี่ยง คุณครูสามารถปรึกษาบุคลากรทางแอปพลิเคชันได้ทันที โดยในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับการช่วยเหลือจนดีขึ้น ถึงร้อยละ 73