โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายชื่อสมาชิกภายใต้คณะบริหารของเขาที่จะดูแลงานด้านเศรษฐกิจแล้ว โดยไบเดน เสนอชื่อ 'เจเน็ต เยลเลน' วัย 74 ปี อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อปี 2557-2561 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งหากวุฒิสภารับรองตำแหน่ง เยลเลนจะกลายเป็นผู้หญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งนี้
ไบเดนทวีตข้อความระบุว่า "ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังเผชิญความท้าทายใหญ่หลวง หากต้องการกอบกู้ความฝันแบบอเมริกันกลับคืนมา ซึ่งหมายถึงสังคมที่แต่ละบุคคลสามารถเติบโตตามศักยภาพ และสร้างความฝันที่ยิ่งใหญ่เพื่อลูกหลานได้ เยลเลน ในฐานะรัฐมนตรีคลังจะทุ่มเทสานฝันนั้นเพื่อทุกคน"
ชื่อของเยลเลย ไม่ได้เหนือไปจากความคาดหมายโดยก่อนหน้านี้ เยลเลนได้อยู่ในรายชื่อคาดการณ์ของสื่อหลายสำนักที่จะได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลังหญิงคนแรก
นอกจากเยลเลนแล้ว ไบเดนยังเสนอชื่อ นีรา แทนเดน (Neera Tanden) ประธานสถาบัน Center for American Progress ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ให้เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการงบประมาณคนใหม่ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภา จะกลายเป็นสตรีเชื้อสายแอฟริกันและเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้นั่งดำรงตำแหน่งนี้
เช่นเดียวกับ ซิซีเลีย เราส์ (Cecilia Rouse) คณบดีวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ มหาพรินซ์ตัน และ เฮทเธอร์ บูชชีย์ (Heather Boushey) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าร่วมคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาวเช่นกัน
ขณะที่ วอลลี อเดเยโม (Wally Adeyemo) จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ซึ่งจะถือเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้
ข่าวการแต่งตั้งเยลเลน ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีในวงกว้าง โดยสำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ เผยแพร่บทความคิดเห็นว่า เจเน็ต เยลเลน ถือเป็นบุคคลที่เหมาะสมต่อห้วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด และความวุ่นวายจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ
ไฟแนนเชียลไทม์ ระบุว่า เยเลนเป็นอดีตประธานเฟดที่รับฟังข้อมูลจากรอบด้าน ส่วนตัวเธอเป็นบุคคลที่มีอีโก้ต่ำ เธอมักได้รับความไว้วางใจจากนักธุรกิจหัวกลุ่มก้าวหน้า และกลุ่มอนุรักษนิยม อีกทั้งยังได้รับเสียงชื่นชมยกย่องจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์คนดังหลายคน
ไมเคิล กรีนเบอร์เกอร์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าวว่า งานด้านเศรษฐกิจของเยลเลนไม่ใช่แค่นโยบายเชิงเพ้อฝันที่ต่อสู้กับระบบเงินเฟ้อ หรือการตรวจสอบทางการเงิน แต่ยังเป็นความพยายามที่ช่วยให้ครัวเรือนธรรมดาของสหรัฐฯ กลับมายืนหยัดได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง รวมถึงการสร้างตลาดแรงงานที่ผู้คนรู้สึกมั่นคงและก้าวไปข้างหน้าได้
อย่างไรก็ดี ยังเหลือกุนซือเศรษฐกิจตำแหน่งสำคัญอีกหนึ่งคือ ผู้แทนเจรจาการค้าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่จับตามองว่า ไบเดน อาจเลือก 'แคทเทอรีน ไถ' สตรีอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งอาจมีส่วนช่วยอย่างมากในการบรรเทาความขัดแย้งในสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ