ไม่พบผลการค้นหา
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสั่งเฝ้าระวังฝนถล่ม 10 จังหวัดยังมีปัญหาน้ำท่วม เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากอิ��ธิพลของพายุดีเปรสชัน การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 79 อำเภอ 482 ตำบล 2,825 หมู่บ้าน 38 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 126,390 ครัวเรือน 327,420 คน ผู้เสียชีวิต 24 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 10 จังหวัด รวม 32 อำเภอ 235 ตำบล 1,437 หมู่บ้าน 60,979 ครัวเรือน 166,292 คน อพยพ 40 ครัวเรือน แยกเป็น

สถานการณ์ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน 1 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร

สถานการณ์ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อ่างทอง และพระนครศรีอยุธย

ลุ่มน้ำท่าจีน 1 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี

ลุ่มน้ำชี 5 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด

นอกจากนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ทั้งเต็นท์ที่พัก รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถบรรทุก รถสุขาเคลื่อนที่ เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ยังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังสู่ลำน้ำสายหลัก อีกทั้งเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิต ทรัพย์สินจากการประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์

 อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้ ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

อีกทั้งขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป