นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึง สถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม – 26 พฤศจิกายน 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 79 อำเภอ 482 ตำบล 2,825 หมู่บ้าน 38 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 126,390 ครัวเรือน 327,420 คน ผู้เสียชีวิต 29 ราย
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม 3 อำเภอ 46 ตำบล 365 หมู่บ้าน 30,788 ครัวเรือน 67,735 คน ผู้เสียชีวิต 8 ราย
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดเพชรบุรี น้ำยังท่วมขัง มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 5 อำเภอ 42 ตำบล 249 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านแหลม อำเภอท่ายาง และอำเภอบ้านลาด
ส่วนสถานการณ์น้ำไหลหลากในจังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอศรีบรรพต และอำเภอศรีนครินทร์ อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
โดย ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังสู่ลำน้ำสายหลัก อีกทั้งเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิต ทรัพย์สินจากการประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศ พบว่า ในช่วงวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด
รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป