ทว่าพอหันกลับมามองประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤตความไม่ปลอดภัยทางอาหาร บริษัทยักษ์ใหญ่ผูกขาดด้านการเกษตร และอาหารแบบครบวงจร แต่ดูเหมือนผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐยังคงเพิกเฉย ละเลย ไม่สนับสนุนการคลี่คลายปัญหาอย่างจริงจัง
บวกกับคำถามเรื่อง ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ การเข้าถึงอาหารปลอดภัยจากฝ่ายประชาชนก็เงียบงันคล้ายสายลมพัดผ่าน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ฝากชีวิตตัวเองกับซูเปอร์มาเก็ตใกล้บ้าน ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าผักสด และเนื้อสัตว์ราคาสูงเวอร์
ทีมงาน ‘วอยซ์ ออนไลน์’ เดินทางไปอัพเดทสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยทางอาหารกับ ‘กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา’ จากมูลนิธิชีววิถี (Biothai) ซึ่งชี้สาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาดังกล่าวว่า ผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มถอยห่างจากความรู้ด้านการผลิต และบริโภคอาหารยั่งยืน
ในฐานะคนทำงานด้านความปลอดภัยทางอาหารมานานกว่า 10 ปี กิ่งกรเล่าสถานการณ์ที่เผชิญหน้าอยู่ว่า ปัญหาสำคัญอยู่ตรง ‘ความรู้’ ของผู้บริโภค เนื่องจากคนเมืองใหญ่อยู่ค่อนข้างห่างไกลจากเส้นทาง หรือต้นทางของอาหาร โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับอาหารที่ตนเองหยิบใส่ปาก ใส่ท้อง วันละเกิน 3 มื้อ จึงต้องพยายามเรียกคืนความรู้กลับมา บวกกับส่งเสริมให้ผู้ผลิตขยายตัวของเกษตรยั่งยืน เกษตรนิเวศ เกษตรปลอดจากสารเคมี
นั่นเป็นหนึ่งเหตุผลที่ ‘มูลนิธิชีววิถี’ และ ‘มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน’ ร่วมมือกันจัดสรรพื้นที่ 2.5 ไร่ ย่านไทรม้า จังหวัดนนทบุรี ให้กลายเป็น ‘สวนชีววิถี’ (Growing Diversity Park) แหล่งเรียนรู้ด้านความมั่นคงทางอาหาร และเกษตรกรรมยั่งยืนครบวงจร เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคทุกระดับ
“หลายคนเริ่มเห็นอาหารแล้วบอกไม่ได้ว่า ปรุงมาจากอะไร ทำอย่างไร พูดง่ายๆ คือความรู้ค่อนข้างหายเร็วมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ต้องหาวิธีเรียกคืนความรู้กลับมา เพื่อให้ทุกคนกลายเป็นผู้บริโภคที่สามารถเลือกอาหารเป็นประโยชน์ ไม่สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ และส่งเสริมการผลิตของผู้ผลิตรายเล็กรายน้อย” กิ่งกรกล่าว
ตามความจริงแล้ว วิธีการสร้างความปลอดภัยทางอาหารขั้นพื้นฐานสุดอยู่ตรง ‘การเลือกบริโภคตามฤดูกาล’ เช่น คนชอบทานคะน้ามากๆ เบื้องต้นควรทราบว่า คะน้าปลูกอย่างไร? และ ฤดูกาลส่งผลต่อความแตกต่างกันมากขนาดไหน? เพราะบางฤดูกาลคะน้าปลูกยากมาก ดังนั้น ถ้าทานทุกฤดูกาลอาจเจอคะน้าปลูกยาก ซึ่งผ่านการกระหน่ำบำรุงรักษาด้วยสารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือสูตรคอกเทลแบบต่างๆ
“จริงๆ แล้วความรู้ของผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องลึกถึงระดับรากเหง้า แต่ง่ายๆ ควรทราบสักเล็กน้อยเกี่ยวกับแหล่งที่มาของอาหาร เช่น คะน้าปลูกยากฤดูกาลไหน? ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะมันอาจช่วยชีวิตของตัวคุณเองได้บ้าง” กิ่งกรเน้นย้ำก่อนพาทีมงานเดินรอบๆ สวนชีววิถี และแนะนำให้รู้จักกับต้น ‘ไชยา’ สายพันธ์จากแม็กซิโก สามารถนำมาทานแทนผักคะน้าได้ดี
ปัจจุบัน ถ้าผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดภัยแบบจากฟาร์มสู่ช้อน วัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องมาจากการผลิตระดับแปลงเล็กแปลงน้อย และเป็นการผลิตตามฤดูกาลเท่านั้น ทำให้การทานอาหารปลอดภัยกลายเป็นเรื่องยาก ต้องดิ้นรนไปเสาะแสวงหาเกษตรกรรายย่อย ซึ่งทําการเกษตรกันอยู่อย่างกระจัดกระจาย
“หลักการทำงานของเราคือ สนับสนุนสุขภาพ และห่วงใยสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันประกอบกันพอดีกับการกระบวนการผลิตแบบสอดคล้องกับธรรมชาติของเกษตรกรรายย่อย คือถ้าจะผลิตให้ปลอดภัยยั่งยืน ต้องคิดถึงเรื่องความสอดคล้องต้องกันกับธรรมชาติ และฤดูกาล ซึ่งความเป็นจริงมันยากมาก เพราะธรรมชาติวุ่นวายมาก แต่เรายังคงพยายามสู้กันอยู่”
อย่างไรก็ตาม เพียงแค่แรงพลังของนักกิจกรรมทางสังคมมันไม่พอ ฝั่งผู้บริโภคเองควรหันมาตระหนักถึงปัญหา เปิดใจเรียนรู้ ลงมือทำและตั้งคำถาม โดยความหวังของกิ่งกรคือ ต้องการรื้อฟื้นความรู้ด้านอาหารยั่งยืน เน้นให้ผู้บริโภคปรับลิ้น เปลี่ยนทัศนคติ เพราะการปรับเปลี่ยนทัศนคติช่วยให้เลือกทานอาหารหลากหลายยิ่งขึ้น
“การเลือกกินจากหลากหลายขึ้นหมายความว่า ผู้บริโภคสามารถกินจากผู้ผลิตรายใหญ่ หรือรายเล็กก็ได้ กินจากเกษตรกรรายย่อยภาคอื่นๆ ได้ ทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้บริโภคที่มีความสามารถพิเศษ แต่ความจริงเป็นความสามารถอันปกติ คือสามารถสนับสนุนผู้ผลิตที่มีความหลากหลายสูง ซึ่งต้องเริ่มต้นจากปรับความรู้เรื่องการกิน ความรู้เรื่องการเลือก หรืออาจจะต้องปรับลิ้น ไปจนเปลี่ยนทัศนคติ” กิ่งกรกล่าว
ในภาคชีวิตจริง หลังจากคลุกคลีกับผู้บริโภคมายาวนานกิ่งกรยอมรับว่า การเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องเดินหน้าต่อสู้กันทางความคิด เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มักคิดว่า ‘ไม่มีเวลา’ จึงเลือกเข้าโหมดการทานอาหารแบบ ‘วันสต๊อปเซอร์วิส’ คือเอาของสำเร็จมาเข้าเตาอบแล้วกดติ้ง
“การทานอาหารแบบวันสต๊อปเซอร์วิสเป็นการนำเสนอรูปแบบความสะดวกสบาย เพราะการดำเนินชีวิตของคนเมืองใหญ่เร่งรีบ ไม่มีทางเลือก แต่ความจริงมันไม่แน่นอนเสมอไป ดังนั้น ความยากอยู่ตรงการเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคเรื่องของการจัดการเวลา การจัดการกับตัวเองให้รู้จักสรรหาเวลามาจัดการกับอาหาร ซึ่งมันเป็นไปได้จริง และควรทำ แต่ต้องสู้กันทางความคิดค่อนข้างเยอะ
“นอกจากนั้น หากใครไม่ต้องการกินไก่อุตสาหกรรม อยากกินไก่พื้นบ้าน อยากกินไข่ไก่ฟรีแลนซ์ ไข่ไก่อารมณ์ดี แต่บอกว่าหากินยาก แถมแพงอีก เอาเข้าจริงๆ ถ้าเป็นอาหารปลอดภัยจากเกษตรกรรายย่อย ราคาไม่ได้ต่างกันมาก ถ้ารู้แหล่ง ส่วนเนื้อสัตว์ปริมาณการผลิตถ้าไม่มากพอก็ยังจะแพงอยู่ แต่ถ้าอยากกินต้องช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการผลิตมากขึ้น มันเป็นการที่ผู้บริโภคสามารถส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของการผลิตที่มีคุณภาพได้
“คนมีโอกาสเลือกก็ควรสร้างทางเลือกให้ตัวเอง จัดการเวลาตัวเอง ขณะเดียวกันต้องจัดระบบอาหารภายในประเทศ เพื่อเอื้อต่อคนทุกคน ไม่ใช่มองไปทางไหนความปลอดภัยทางอาหารมันเข้าขั้นวิกฤติ เพราะฉะนั้นต้องสร้างกระบวนการจัดการทางนโยบาย ทางมาตรการ การส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของการผลิตปลอดภัย เกิดการควบคุมชัดเจน” กิ่งกรอธิบาย
ในส่วนประเด็นการปรุงอาหารสำเร็จรูปต่างๆ กิ่งการแนะนำว่า ควรต้องออกกฎกติกา ไม่ใช่ปล่อยให้ใส่สารปรุงแต่งกัน แบบปราศจากการควบคุม ซึ่งนั่นมันหมายความว่า หูตาของภาคประชาชนไม่เพียงพอ หรือระบบมาตรการไม่ดีพอ ทั้งหมดต้องถูกจับปรับให้เป็นมาตรฐานอาหารขั้นต่ำที่มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง
“มันยากมากที่จะแหวกว่ายไปหาอาหารปลอดภัยที่พอรับได้ เพราะเครื่องปรุงแต่งซับซ้อนมาก ช่วยให้กรอบนาน ช่วยให้ไม่เปลี่ยนสี คือเสริมเข้าไปเยอะมาก มันสะท้อนได้จากเวลาตรวจก็เจอ ไม่ว่าจะเป็นหน่าวยงานรัฐก็เจอ เอกชน หรือที่เป็นประชาสังคมตรวจก็เจอ มันมีอยู่ทั่วไป เต็มไปหมด เพราะฉะนั้นเราต้องจัดการให้ความทั่วไป เป็นความทั่วไปที่มีมาตรฐานขึ้นต่ำ แล้วมันมีหลักประกันพอสมควร ปัจจุบันมันไม่มีหลักประกันให้ชีวิตใครเลย ไม่ว่าจะจน หรือจะรวย”
กิ่งกรเชื่อว่า หากหน่วยงานของราชการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ควรเตือนภัยด้วยการให้ข้อมูลสม่ำเสมอ ตรงไปตรงมา ไม่ต้องอุบอิ๊บ พูดง่ายๆ คือต้องไว้ใจปร���ชาชน เพราะประชาชนสามารถเรียนรู้ได้ เมื่อให้ไปเรื่อยๆ จะเกิดความรู้ และหากผู้บริโภคเกิดความรู้ พวกเขาจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว
สำหรับโมเดลของมูลนิธิชีววิธีคือ ขบวนการผู้บริโภคต้องเข้มแข็ง ข้อมูลเพียงพอ และลุกขึ้นมาเรียกร้อง ให้หน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อตัวเอง รับผิดชอบต่อผู้บริโภค แล้วรับผิดชอบต่อต้นทางอาหาร รับผิดชอบกระบวนการแรงงาน รับผิดชอบผู้ผลิต คือทุกคนตลอดห่วงโซอาหารควรอยู่บนความสุข ความพึงพอใจ และทานอาหารคุณภาพปลอดภัย และยั่งยืนกับผู้คนที่เกี่ยวข้องด้วย
“การทำหน้าที่ของภาครัฐควรเป็นสาธารณะ ประชาชนรับความรู้ ข้อมูล และสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ถ้าประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หน่วยงานก็จะมีภาระน้อยลง แล้วผู้ประกอบการก็ต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค” กิ่งกรบอกในสิ่งที่ตนเองเชื่อ
“จริงๆ แล้วในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เขายังตรวจสอบกันทุกปี แจกแจงยี่ห้อด้วย แล้วพอตรวจปุ๊บผู้ประกอบการก็ตอบสนองเรื่องการปรับปรุง เอาสินค้าออกจากตลาด ปิดร้าน แต่บ้านเราพอตรวจก็เฉย คือทุกคนเฉยหมด ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะประชาชนเองก็เฉยด้วย ไม่ได้เรียนร้องอะไร” กิ่งกรทิ้งท้าย