ตามประกาศผลการพิจารณาโครงการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ประจำปี 2560 (Annual GSP Product Review) โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR ระบุว่า ล่าสุดได้ตัดสิทธิ์ GSP สินค้าจาก 15 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนติน่า เบลิซ บอสเนีย บราซิล เอกวาดอร์ อียิปต์ ฟอล์กแลนด์ อินโดนีเซีย คาซัคสถาน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สุรินัม ตุรกี อินเดีย และไทย รวม 86 รายการ เนื่องจากมีมูลค่าการค้าเกินเพดานที่กำหนด 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป โดยการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี ในรายงานฉบับนี้ สินค้าจากประเทศไทยถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมด 11 รายการ ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด, ทุเรียนสด, มะละกอตากแห้ง, มะขามตากแห้ง, ข้าวโพดปรุงแต่ง, ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม, มะละกอแปรรูป, แผ่นไม้ปูพื้น, เครื่องพิมพ์, เครื่องซักผ้า และขาตั้งกล้องถ่ายรูป โดยสิบรายการมีส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 และ อีกหนึ่งรายการ คือ เครื่องซักผ้ามีมูลค่าการนำเข้าเกิน 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยว่าการติดสิทธิ์สินค้าทั้ง 11 ประเภทนั้นจะไม่กระทบต่อศักยภาพการส่งออก
“ไม่กระทบต่อการส่งออก เพราะอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ระหว่างร้อยละ 1-8 ซึ่งไม่ได้มาก และที่สำคัญ สินค้าไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีส่วนแบ่งตลาดเกิน ร้อยละ 50 ถึง 10 รายการ จึงมั่นใจว่าจะส่งออกไปได้ต่อเนื่อง และที่ผ่านมา สินค้าที่ถูกตัด GSP ไปแล้ว ก็ยังส่งออกได้เพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ส่วนเครื่องซักผ้า ก็ไม่กระทบ เพราะภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1 เท่านั้น” นายอดุลย์ กล่าว
อย่างไรก็ดี การตัดสิทธิ์ครั้งนี้ของสหรัฐฯ ส่งผลดีกับไทยเช่นกัน เพราะหลายประเทศที่เป็นคู่ค้ากับสหรัฐฯ และเป็นคู่แข่งกับไทยก็ถูกตัดสิทธิ์เช่นกัน โดยเฉพาะอินเดียที่ถูกตัดสิทธิ์สินค้าถึง 50 รายการ ประกอบไปด้วยสินค้าผ้าทอและสินค้าเกษตรเป็นหลัก
อีกทั้งใน 50 รายการนี้ ยังมีสินค้า เช่น พรมถักด้วยมือ ผักสด และผลไม้ปรุงแต่ง เป็นสินค้าที่สำคัญที่ไทยสามารถเร่งส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้
อินเดียนเอ็กซ์เพรสว่า เผยคำกล่าวของแหล่งข่าวระบุว่า อินเดียยังคงเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากโครงการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของสหรัฐฯ เป็นเพียงการปรับตัวโดยปกติเมื่อมีอุปทานส่งออกของสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งไปยังสหรัฐฯ เกินกว่าค่าที่กำหนด
สินค้าทั้งหมดที่ถูกถอดออกจากสิทธิพิเศษ GSP นี้ มีมูลค่ารวมน้อยกว่าร้อยละ 2 ของสินค้าที่อินเดียส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็น 5.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.83 แสนล้านบาท) ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทสอินเดียทั้งหมดคิดเป็น 4.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.487 ล้านล้านบาท) อย่างไรก็ตาม การตัดสิทธิ์นี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของอินเดียอย่างแน่นอน
หากไทยสามารถพลิกวิกฤตตรงนี้ให้กลับมาเป็นโอกาสได้ ก็จะสามารถเร่งตัวเลขการส่งออกให้ดีขึ้นจากที่ตกลงมาติดลบถึงร้อยละ 5.5 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาตามตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย และถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ยืนอยู่บนการส่งออกเป็นหลักด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :