ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยดีขึ้น จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลาประเทศไทย นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (United States Trade Representatives: USTR) ได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) หลังจากที่ได้จัดให้ไทยอยู่ในบัญชี PWL ตั้งแต่ปี 2550 - 2560 ก่อนที่ได้ประกาศทบทวนสถานะของไทยนอกรอบ (Out-of-Cycle Review: OCR) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560

สำหรับ การประกาศผลครั้งนี้ USTR ระบุว่าสหรัฐฯ ตระหนักถึงความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญในการพัฒนาด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในระดับสูงภายใต้คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ อีกทั้งมีการดำเนินการอย่างจริงจังจนเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามการละเมิดในท้องตลาด ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอย่างจริงจังจนการละเมิดได้หมดสิ้นไปในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 เป็นต้นมา รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อออกตรวจตราจับกุมใน 5 ย่านการค้าสำคัญ คือ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค ตลาดนัดจตุจักร ตลาดโรงเกลือ (จังหวัดสระแก้ว) หาดป่าตอง และหาดกะรน (จังหวัดภูเก็ต) 

นอกจากนี้ USTR เห็นถึงความพยายามของไทยในการแก้ไขข้อกังวลของภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพในการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า โดยเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบ และปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน จนทำให้สามารถลดปริมาณงานค้างสะสมลงไปอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศใดประเทศหนึ่งแต่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ในประเทศภาคีหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่มิได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง เช่น การเสริมสร้างความโปร่งใสโดยเปิดให้มีการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประจำ ซึ่งช่วยคลายความกังวลของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องลงไปได้มาก

ทั้งนี้ การที่ไทยได้รับการปรับสถานะให้ดีขึ้นจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของประเทศในสายตาของผู้ค้าและนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากนี้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สหรัฐฯ พิจารณาในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP ซึ่งสหรัฐฯ ให้แก่ประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงไทยด้วย