ช่วงที่ผ่านมา มีการจุดกระแสในโซเชียลมีเดีย เรียกร้องให้ 'บอยคอต' ไม่เติมน้ำมันที่ 'ปั๊ม ปตท.' กันอย่างคึกโครม จนถึงขนาดที่มีคำพูดที่ว่า "ปตท. มีไว้อุจจาระอย่างเดียว" แถมการเรียกร้องยังลุกลามไปถึงปั๊มน้ำมันยี่ห้ออื่น ๆ ที่ ปตท. ถือหุ้นอีกต่างหาก
โดยต้นสายปลายเหตุ มาจากการที่ราคาขายปลีกน้ำมันในบ้านเราทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทบจะเป็นรายวัน ตามราคาน้ำมันโลกที่พุ่งต่อเนื่อง กระทั่งกลางเดือน พ.ค. 2561 ทะลุ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ราคาน้ำมันดิบดูไบ) เลยทีเดียว ซึ่งช่วงนั้น ทางกระทรวงพลังงาน ได้มีการห้าม 'ปตท.' และ 'บางจาก' ประกาศราคาขายปลีกน้ำมันล่วงหน้า กระทั่งเสียงบ่นน้ำมันแพง ประชาชนไม่รู้อิโหน่อิเหน่วางแผนอะไรไม่ได้ดังขึ้น เจ้ากระทรวงพลังงานจึงกลับลำให้ผู้ประกอบการประกาศราคาขายปลีกน้ำมันล่วงหน้าได้เหมือนเดิม
อย่างไรก็ดี หากจะพูดกันถึงโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย จะพบว่า มีด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ
โดยต้นทุนเนื้อน้ำมันสำเร็จรูป เป็นราคาที่โรงกลั่นน้ำมันขายให้กับผู้ค้าน้ำมัน (ยังไม่รวมภาษีและเงินกองทุน) ซึ่งน้ำหนักในราคาขายปลีกในประเทศส่วนใหญ่เกิดจากตรงนี้ โดยเป็นราคาที่อ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ บวกค่าขนส่ง ค่าประกัน และค่าการสูญหาย รวมเรียกว่า 'ราคา ณ โรงกลั่น' ซึ่งจะปรับขึ้นลงตามราคาตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่ ภาษี จะมีทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล (ภาษีมหาดไทย) เก็บร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 7
ส่วนกองทุน จะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ด้านค่าการตลาด ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ไปจนถึงเจ้าของปั๊มน้ำมัน
3 รัฐบาล ลดภาษีสรรพสามิต คุมราคาน้ำมัน
โดยในอดีตมีการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแล กระทั่งถึงช่วงรัฐบาล 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' เป็นนายกรัฐมนตรี พยายามหลีกเลี่ยงการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะมองว่าบิดเบือนกลไกตลาด และสร้างภาระให้ประเทศ จึงใช้วิธีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท จากเดิมเก็บอยู่กว่า 5 บาทต่อลิตร เพื่อช่วย 'อุดหนุน' ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ระยะเวลา 5 เดือน นับจากเริ่มมาตรการกระทั่งยุบสภา มีการสูญเสียรายได้ภาษีไปประมาณ 45,000 ล้านบาท
ต่อมาในช่วงรัฐบาล 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ต่ออายุมาตรการ 'ลดภาษีน้ำมันดีเซล' ออกไปอีกหลายครั้ง กระทั่งตลอดอายุรัฐบาลกว่า 2 ปี เบ็ดเสร็จแล้วก็ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันดีเซลไปประมาณ 288,000 ล้านบาท
ขณะที่ ในช่วงแรกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังมีการต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลไปอีกเกือบ 3 เดือน สูญเสียรายได้ไปประมาณ 27,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น คสช. สบจังหวะดีจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับไม่สูง (ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบตลาดโลกปี 2558 อยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 48 จากปี 2557 ที่มีราคาอยู่ที่ 96 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ) จึงมีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้เข้าสู่อัตราปกติ โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลควบคู่กันไปด้วย
รวมเบ็ดเสร็จ ตลอดช่วง 3 รัฐบาล (อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์) ที่มีมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปทั้งสิ้นประมาณ 360,000 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน 'ประสงค์ พูนธเนศ' ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมายืนยันว่า ยังไม่มีแผนที่จะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพื่อพยุงราคาน้ำมัน เพราะมองว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้น
ขณะที่ 'ศรพล ตุลยเสถียร' ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บอกว่า ปัจจัยที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากปัจจัยที่สหรัฐมีกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง และยังมีปัจจัยเรื่องเชลส์แก๊สที่สหรัฐอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบขนส่ง (ท่อส่งน้ำมัน) เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเมื่อประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันจากตลาดซื้อขายล่วงหน้า ก็ทำให้ สศค. คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม แม้เกรงว่าจะถูกโจมตีเรื่องการ 'อุดหนุน' ราคาน้ำมัน แต่เนื่องจากราคาน้ำมันช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ถือว่า 'พีค' อย่างมาก ทำให้รัฐบาล คสช. ไม่สามารถทนกระแสกดดันจากประชาชนผู้บริโภค และยิ่งไปกว่านั้นคือ มีกระแสเรียกร้องปรับขึ้นค่าบริการสาธารณูปโภค และ ระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ เข้ามาเป็นหางว่าว
รัฐบาล คสช. งัด 'เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง' ตรึงราคาดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา จึงส่งสัญญาณให้กระทรวงพลังงาน นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้ราคาขายปลีกเกิน 30 บาทต่อลิตร
จากนั้นเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน ( กบง.) ในวันที่ 24 พ.ค. 'ศิริ จิระพงษ์พันธ์' รมว.พลังงาน ก็แถลงว่า กบง. มีมติให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ 30,505 ล้านบาท มาพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีน้ำมันดีเซล B20 เกรดพิเศษ ที่ราคาถูกกว่าเกรดปกติ 3 บาทต่อลิตร ออกมาจำหน่าย ในเดือน ก.ค. นี้
นอกจากนี้ กบง.ยังมีมติให้อุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 10 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เพื่อให้ราคาก๊าซหุงต้มลดลงเหลือไม่เกินถังละ 363 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป
ถือว่าโชคดีที่แรงกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกผ่อนคลายไปมากแล้ว เพราะไม่เช่นนั้น หากถึงขั้นมีการเรียกร้องให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันขึ้นมาอีกครั้ง ก็จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปอีกมาก
ที่สำคัญ จะทำให้ประชาชนไม่ค่อยรู้สึกว่าได้รับผลกระทบ จึงไม่เกิดความตระหนักที่จะต้องประหยัดการใช้น้ำมันให้มากขึ้น และ คงตั้งหน้าตั้งตาบริโภคน้ำมันกันอย่างฟุ่มเฟือยต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :