ไม่พบผลการค้นหา
รมว.พลังงาน ชี้ราคาน้ำมันตลาดโลก-อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ดันราคาน้ำมันดีเซลในอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้น แจงราคาดีเซลขายปลีกในประเทศ เพิ่มขึ้นต่ำกว่าควรจะเป็นแล้ว แต่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนกว่าจะเริ่มจำหน่าย B20 พร้อมกับมอบหมาย สนพ. แจ้งราคาขายปลีกน้ำมันล่วงหน้าได้แล้ว

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวถึงถึงการแก้ปัญหาราคาน้ำมันดีเซลที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่ากระทรวงเตรียมประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เร่งด่วนภายในสัปดาห์นี้ เพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติราคาน้ำมันด้วยการดูแลเสถียรภาพราคาดีเซลไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อที่ภาคขนส่ง ทั้งรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะและเรือโดยสาร ไม่ต้องปรับขึ้นค่าขนส่งและบริการเพิ่มขึ้น และเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในช่วงขาขึ้น ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สามารถแจ้งราคาขายปลีกน้ำมันได้ล่วงหน้าเช่นเดียวกับผู้ค้าน้ำมัน

ส่วนสาเหตุน้ำมันมีราคาเพิ่มขึ้น เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) มีราคาเพิ่มขึ้น 15.30 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (จาก 61.75 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 16 มี.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 77.05 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2561) ส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ในตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้น 16.69 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (จากราคา 76.55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 16 มี.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 93.24 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2561) 

หรือคิดเป็นราคา 3.30 บาท/ลิตร ในช่วงเวลาเดียวกัน จากอัตราแลกเปลี่ยน 31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 16 มี.ค. อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 32.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 19 พ.ค. ส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ในตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้นอีก 0.52 บาท/ลิตร เป็น 3.82 บาท/ลิตร 

แต่ด้วยการปรับสูตรการคำนวณราคาอ้างอิง ณ โรงกลั่น และการลดจำนวนเงินจัดเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.15 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาดีเซลขายปลีกในประเทศ เพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ควรเป็นที่ระดับ 0.62 บาท/ลิตร คือเพิ่มขึ้นสุทธิจริงเท่ากับ 3.20 บาท/ลิตร เป็น 29.79 บาท/ลิตร

ขณะที่ กระทรวงพลังงานได้ริเริ่มโครงการช่วยดูดซับปริมาณผลิตน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน ด้วยการผลิตน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลเพิ่มจากร้อยละ 7 สำหรับดีเซลเกรดทั่วไป (B7) เป็นร้อยละ 20 (B20) เพื่อใช้ในกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ โดยจะมีมาตรการจูงใจด้วยราคาขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่ระดับ 3 บาท/ลิตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายได้ประมาณต้นเดือน ก.ค. นี้ เป็นต้นไป      


"แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีการจำหน่ายน้ำมัน B20 กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือในการรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินกว่า 30 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลาสั้นๆ ไปก่อน"


ทั้งนี้ การจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ (B20) โดยมีส่วนลดให้ราคาขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดปกติที่ 3 บาท/ลิตร จึงคาดว่าจะส่งผลให้ราคาต้นทุนน้ำมันของกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ อยู่ในระดับต่ำประมาณ 27 บาท/ลิตร จึงไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นค่ารถโดยสารสาธารณะหรือค่าขนส่ง

อีกด้านหนึ่ง กระทรวงพลังงานได้เตรียมมาตรการลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อาจจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือผันผวนอย่างรวดเร็ว โดยการใช้กองทุนช่วยลดภาระให้ขึ้นราคาขายปลีกเท่ากับร้อยละ 50 ของราคาที่ควรจะเพิ่มขึ้น กล่าวคือ หากราคาน้ำมันตลาดโลกขึ้น 1 บาท จะใช้กองทุนช่วยลดภาระ 50 สตางค์ และขึ้นราคา 50 สตางค์

หากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้นถึง 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิง Platts ในตลาดอาเซียน เพิ่มขึ้นเป็น 105 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และด้วยฐานะกองทุนน้ำมันที่มีคงเหลือประมาณ 30,000 ล้านบาท จะเพียงพอสำหรับมาตรการการใช้กองทุนช่วยลดภาระการขึ้นราคาขายปลีกร้อยละ 50 ของราคาที่ควรจะเพิ่มดังกล่าวได้ประมาณ 10 เดือน

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณามาตรการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซล หลังจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งภายหลังจาก กบง. เห็นชอบ จะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป

ข่าวเกี่ยวข้อง :