สำนักข่าวเบอนาร์นิวส์และเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) รายงานว่า อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวว่าจะมีการหารือกับตัวแทนฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลไทย เพื่อหาข้อยุติและแนวทางปฏิบัติระหว่าง 2 ประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไร กรณีที่รัฐบาลจีนเรียกร้องให้มาเลเซียส่งตัวชาวอุยกูร์ 11 คนกลับไปพิจารณาคดีที่ประเทศจีน หลังจากชาวอุยกูร์กลุ่มดังกล่าวหลบหนีไปจากห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในจังหวัดสงขลาเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ไปยังมาเลเซีย แต่ถูกทางการมาเลเซียจับกุมและควบคุมตัวจนถึงขณะนี้
รองนายกฯ มาเลเซียระบุว่า การแก้ปัญหาจะต้องยึดหลักทางการทูต และต้องไม่ทำให้ผู้ใดต้องเดือดร้อน และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ก.พ. องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' หรือ HRW และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่างออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลมาเลเซียให้ยึดหลักสากล ไม่บังคับส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังจีน เนื่องจากทั้งหมดอาจตกอยู่ในอันตรายและถูกกดขี่-ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในเวลาเดียวกัน หน่วยข่าวกรองในรัฐบาลมาเลเซียซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ให้สัมภาษณ์ RFA ว่าทางการมาเลเซียได้ดำเนินการไต่สวนและสอบปากคำชาวอุยกูร์ทั้ง 11 ราย แต่ไม่พบประเด็นน่าสงสัย และไม่พบความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับเครือข่ายก่อการร้ายข้ามชาติ แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนประกาศว่าเครือข่ายชาวอุยกูร์พลัดถิ่นซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ เป็นฝ่ายสนับสนุนการก่อการร้ายของชาวอุยกูร์ในจีน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ทั้งนี้ ชาวอุยกูร์ทั้ง 11 คนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาวอุยกูร์ 200 คนซึ่งถูกจับกุมและควบคุมในไทยนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อหาลักลอบเข้าเมือง และทางการไทยจะต้องดำเนินเรื่องส่งกลับประเทศต้นทาง แต่เกือบทั้งหมดขอร้องให้ทางการไทยส่งตัวไปยังประเทศตุรกี แต่กระบวนการพิจารณาคำร้องขอส่งตัวดำเนินไปอย่างล่าช้า และในเดือน ก.ค. 2558 รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปยังจีน ทำให้สหประชาชาติ สหภาพยุโรป และองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โจมตีไทยอย่างหนักว่าไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
หลังจากไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปยังจีน ได้เกิดเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ บริเวณแยกราชประสงค์ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 และมีการจับกุมตัวชายชาวอุยกูร์ 2 รายในเดือน ก.ย. ได้แก่ นายบิลัล โมฮัมเหม็ด หรือ อาเด็ม คาราดัก และนายไมไรลี ยูซูฟู ในฐานะที่เป็นผู้ต้องหาคดีลอบวางระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ ทั้งคู่รับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุในตอนแรก แต่กลับคำให้การในชั้นศาล
และเมื่อเดือน พ.ค. 2559 นายอาเด็มถูกนำตัวมาพิจารณาคดีที่ศาลในกรุงเทพฯ เขาตะโกนบอกกับผู้สื่อข่าวที่มารายงานการพิจารณาคดีว่าเขาถูกซ้อมระหว่างถูกคุมขัง แต่ทางการไทยปฏิเสธข่าวดังกล่าว พร้อมย้ำว่าปฏิบัติต่อผู้ต้องหาตามหลักสิทธิมนุษยชน
อ่านเพิ่มเติม: