ไม่พบผลการค้นหา
นายแพทย์ สสจ.ยะลา ชี้สาเหตุผู้ป่วยหัดที่เสียชีวิต เพราะไม่เคยรับวัคซีนและพามาพบแพทย์ช้า ด้านผู้ว่าฯ ยะลาสั่งนายอำเภอตั้งศูนย์ตอบโต้โรคหัดระดับอำเภอแล้ว นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยโรคคอตีบเพิ่ม ลักษณะการแพร่กระจายคล้ายโรคหัดอีกด้วย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคหัดในพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดยะลา ตั้งแต่กันยายน เป็นต้นมา พบว่ามีผู้ป่วยอายุระหว่าง 9 เดือน – 10 ขวบ จำนวน 752 ราย โดยอำเภอยะหา พบมีผู้ป่วยมากที่สุด จำนวน 147 ราย ในการนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 9 ราย คือ อ.กรงปินัง จำนวน 4 ราย อ.บันนังสตา จำนวน 2 ราย อ.ธารโต จำนวน 2 ราย และอำเภอกาบัง 1 ราย ไปแล้วนั้น

ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมายังน่าเป็นห่วง ยังต้องติดตามสถานการณ์กันต่อเนื่อง ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีเด็กเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 คนจากสัปดาห์ก่อน รวมแล้วตอนนี้เสียชีวิตทั้งหมด 9 คน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กในกลุ่มอายุไม่เกิน 5 ขวบ ที่เสียชีวิตอยู่ประมาณ 2 ขวบ สาเหตุที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ได้รับวัคซีน เรื่องของการมาพบแพทย์จากประวัติแล้วมีไข้มา 3-4 วัน พออาการเริ่มหนักก็มาพบแพทย์ กว่าจะช่วยต้องใช้เวลา ช่วงนี่เชื้อจะเยอะในจังหวัดและจะมีความรุนแรง เพราะสถานการณ์ระบาดของโรคมีอย่างต่อเนื่อง 

23-10-2561 6-31-15.jpg


ด้านมาตรการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ยังคงมาตรการดูแลผู้สัมผัส ผู้สัมผัสที่อายุน้อย 12 ปีลงมาไม่มีประวัติฉีดวัคซีน จะดำเนินการออกไปสอบสวนโรคและจะฉีดวัคซีนในกลุ่มที่ผู้สัมผัสใกล้ชิด กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเป็นวาระของจังหวัดในการเปิดศูนย์ตอบโต้โรคหัดระดับอำเภอโดยมีนายอำเภอเป็นประธานได้ออกเชิงนโยบายในการที่จะฉีดวัคซีนให้กับเด็กกลุ่มอายุ 9 เดือน - 5 ปี ซึ่งกลุ่มนี้มีอัตราที่เสียชีวิตสูงซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำ อัตราการฉีดวัคซีนต่ำ ในจังหวัดยะลาฉีดวัคซีน 40-50 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 3 ปี ที่ผ่านมา วัคซีนตัวนี้ไม่มีผลข้างเคียง ต้องระวังบ้างเด็กที่มีอาการแพ้ ต้องระวังเป็นพิเศษ

23-10-2561 6-34-00.jpg


นายแพทย์สงกรานต์ ยังกล่าวอีกว่า ยังมีเด็กที่ต้องระวังและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจส่งมาจาก รพ.สมเด็จพระยุพราชยะหา มารักษาที่ รพ.ศูนย์ยะลา ในห้อง ไอซียู และที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดก่อนหน้านี้อีก 2 ราย ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุข ต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบในวันต่อวัน ส่วนในอาทิตย์ที่ผ่านมา มีเด็กเก่าที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ 2 ราย ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว ซึ่งหากได้รับการรักษาได้เร็วก็จะปลอดภัยสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ล่าสุดในช่วงเย็นของวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยโรคคอตีบ จาก อำเภอกรงปินัง ถูกส่งมารักษาต่อยัง รพ.ศูนย์ยะลา ซึ่งลักษณะการแพร่กระจายเชื้อเหมือนกับโรคหัด คือเชื้ออยู่ในอากาศ สามารถติดต่อได้ทางเดินหายใจ