ไม่พบผลการค้นหา
สนช. จัดงาน ‘District Summit 2018’ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเปิดตัว ‘ย่านนวัตกรรม’ ลุยพัฒนาเมืองนวัตกร

เมื่อวานนี้ (13 กุมภาพันธ์) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จัดงาน ‘District Summit 2018’ ครั้งแรกของไทย ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเมืองนวัตกรรม พร้อมจุดประกายความคิดการพัฒนาธุรกิจให้กับเหล่านวัตกร ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งล้วนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

กิจกรรมเด่นนอกจากผู้เชี่ยวชาญและผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ธุรกิจจาก 6 พื้นที่ ได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และไทย มาร่วมเปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งในมิติกายภาพ เศรษฐกิจ และการสร้างเครือข่ายแล้ว ยังโดดเด่นด้วยการเปิดตัวย่านนวัตกรรม (Innovation District) นำร่อง เพื่อให้ทุกคนมองเห็นโอกาสในการดำรงชีวิต พร้อมรูปแบบการประกอบธุรกิจใหม่ๆ ในเมือง โดยมากกว่าครึ่งของพื้นที่อยู่ในกรุงเทพฯ

แล้ว ‘ย่านนวัตกรรม’ คืออะไร

ความหมายของ ‘ย่านนวัตกรรม’ ตามที่ สนช. ระบุก็คือ พื้นที่ที่เกิดนวัตกรรม หรือใช้นวัตกรรมแบบเข้มข้น และมี ‘นวัตกร’ ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ตรงตามความต้องการของผู้คนในพื้นที่ สร้างมูลค่าเพิ่ม จัดสรรทรัพยากร เพื่อนำไปสู่การเกิดคลัสเตอร์ (Cluster) หรือการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยน ซึ่งก่อให้เกิดคุณค่าต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และชุมชนเจ้าของพื้นที่

นอกจากนั้น ย่านนวัตกรรมยังเป็นแนวคิดใหม่ของการวางแผนและออกแบบพื้นที่บนหลักการของการพัฒนาเมืองให้ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และกลไกที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคม บนพื้นฐานการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-based Innovation) ขนาดเล็กไม่เกิน 4 ตร.กม.

ที่สำคัญก็คือ ย่านนวัตกรรมมุ่งเน้นการพัฒนาสินทรัพย์บนพื้นที่ที่มีศักยภาพ ซึ่งแบ่งสินทรัพย์ดังกล่าวออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินทรัพย์ด้านเครือข่าย สินทรัพย์ด้านเศรษฐกิจ และสินทรัพย์ด้านกายภาพ โดยอาศัยความร่วมมือในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมจากอัตลักษณ์ความเป็นย่าน และแนวความคิดสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดย 6 ย่านนวัตกรรมใหม่ในกรุงเทพฯ ประกอบด้วย

ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ – ศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใจกลางเมืองเก่า

โครงการย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ครอบคลุมพื้นที่อันเต็มไปด้วยแหล่งสร้างสรรค์ ศิลปะ วัฒนธรรม ตลอดจนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น การพัฒนาย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสังคม จำเป็นต้องอาศัยการนำกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาอยู่ในย่านเดียวกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย พบปะพูดคุย ซึ่งบ่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานงาน บ่มเพาะกิจกรรมเชิงนวัตกรรม และเร่งพัฒนาเชิงนวัตกรรมแก่สังคม

ย่านนวัตกรรมโยธี – ศูนย์กลางความรู้ด้านการแพทย์

ย่านโยธีเป็นพื้นที่เด่นของเขตราชเทวี ปัจจุบันเต็มไปด้วยโรงพยาบาล หน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และการบริการสาธารณะสุขของประเทศ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในการเชื่อมต่อการเดินทางหลากหลายรูปแบบในกรุงเทพฯ ทำให้พื้นที่มีประชาชนเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจัยทางกายภาพยังมีปัญหามากมาย ส่งผลให้การพัฒนาย่านนวัตกรรมโยธีไปสู่ศูนย์กลางความรู้ด้านการแพทย์ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาให้กับนวัตกรเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาเพื่อทุกคน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดคุณค่าต่อประเทศ

ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท – ศูนย์กลางธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มัลติมีเดีย และดิจิทัล

การพัฒนาย่านกล้วยน้ำไทมีเป้าหมายในการดึงดูดผู้ประกอบการรายใหม่ให้เข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมบนฐานอุตสาหกรรมเดิม และการมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้กลายเป็นย่านน่าอยู่อันนำไปสู่การสร้างงาน การส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเชองนวัตกรรม และการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับเมืองในระดับนานาชาติ โดยย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไทจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการสร้างองค์ความรู้ในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพให้พัฒนาผลงานสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มัลติมีเดีย และดิจิทัล ขณะที่แหล่งอุตสาหกรรมในย่านจะร่วมสนับสนุนทั้งองค์ความรู้เฉพาะทาง และแหล่งเงินลงทุน

ย่านนวัตกรรมลาดกระบัง – ศูนย์กลางอุตสาหกรรมขนส่ง และโลจิสติกส์ 

ลาดกระบังอีกเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จุดประสงค์หลักคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ เนื่องจากพื้นที่ชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมน้ำ หรือชุมชนหัวตะเข้ ตั้งอยู่ติดกับบริเวณริมคลองประเวศ และมีองค์ความรู้ที่สามารถเรียนรู้ด้านการก่อสร้างบ้าน หรืออาคารไม้ในน้ำ

นอกจากนั้น ย่านลาดกระบังยังเป็นศูนย์กลางของระบบขนส่ง และมหาวิทยาลัยสำคัญๆ จึงมีศักยภาพสูงในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม และสามารถขยายองค์ความรู้ไปสู่นิคมอุตสาหกรรมหนักบริเวณใกล้เคียงได้ ทำให้ย่านนวัตกรรมลาดกระบังต้องพยายามรักษากลุ่มผู้ประกอบการย่อย พร้อบกับถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีไปในเวลาเดียวกัน

ย่านนวัตกรรมคลองสาน – ศูนย์กลางรากฐานความรู้จากชุมชนสู่ความเจริญในอนาคต

เพราะคลองสานมีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาด้านอาหาร เครื่องหนัง และเครื่องประดับ ส่งผลให้พื้นที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมที่มีรากฐานมาจากชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการหยิบอัตลักษณ์ดั้งเดิมของย่านมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ และบริการนวัตกรรม โดยการจับคู่ธุรกิจดังเดิมกับนวัตกร เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม การจับคู่ธุรกิจไม่เพียงแต่จะเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่หลากหลายอีกด้วย

ย่านนวัตกรรมปทุมวัน – ศูนย์กลางผู้ประกอบการทุกระดับชั้น 

ย่านปทุมวันเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง ติดกับศูนย์กลางธุรกิจ และพื้นที่ธุรกิจสร้างสรรค์ จึงถือเป็นย่านที่มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมสูงสุดของประเทศไทย นำไปสู่วิสัยทัศน์การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรม (Central Innovation District) ที่เชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่เดิม โดยสนับสนุนให้เกิดธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อยทั้งในปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการ และผู้ผลิตผลงานเชิงนวัตกรรมสร้างสรรค์

อ่านเพิ่มเติม: