ไม่พบผลการค้นหา
เหล่านักการเมืองการเมือง-นักกิจกรรม-คนเดือนตุลา ร่วมงานรำลึก 47 ปี 6 ตุลา 19 ด้านสองแกนนำก้าวไกล ชี้ต้องสะสางบาดแผลประวัติศาสตร์ให้เสร็จสิ้น หวังร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับก้าวไกล ปิดประตูขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 20 ปี

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานรำลึก 6 ตุลาคม 2519 ในวาระครบรอบ 47 ปี โดยช่วงเช้ามีพิธีกรรมทางศาสนาทำบุญตักบารตพระสงฆ์ 19 รูป และวางพวงมาลาแด่วีรชน รวมถึงการกล่าวสดุดีคนเดือนตุลา

สำหรับบรรยากาศภายในงานมีตัวแทนจากพรรคการเมือง และนักกิจกรรม เข้าร่วม อาทิ สุธรรม แสงประทุม สส.พรรคเพื่อไทย อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) , จาตุรนต์ ฉายแสง สส.พรรคเพื่อไทย อดีตคนเดือนตุลา, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล, ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.และหัวพรรคก้าวไกล, ธิดา ถาวรเศรษฐ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), กลุ่มทะลุวัง และมวลชนผู้รักประชาธิปไตย

96132.jpg

พิธา กล่าวถึงความทรงจำในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในฐานะอดีต นศ.ธรรมศาสตร์ว่า ถือเป็นบทเรียนที่ไม่ควรลืม และในรอบ 4 ปีที่ผ่านมามีความพยายามที่จะสะสางประวัติศาสตร์แม้ว่าผ่านไปแล้ว 47 ปี ก็ยังไม่มีบทสรุป

"พวกเราในฐานะนักการเมือง ในฐานะประชาชนในรุ่นปัจจุบัน ควรถอดบทเรียนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหมือน 47 ปีที่แล้วเป็นไปไม่ได้อีกในสังคมไทย"

อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลในปัจจุบันไม่ได้สำคัญ และพรรคก็ยังเดินหน้าทำงานต่อไป โดยมีจุดมุ่งหมายไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย 6 ตุลา ด้วยการยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ปี 2549

S__24805389.jpg

"ในการยื่นเรื่องนิรโทษกรรม เป็นการยื่นเพื่อที่จะถอนฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้เกิดความแตกแยกที่ไม่มีวันจบเสียที หวังว่าจะทำให้เกิดการเสาะหาข้อเท็จจริง ในที่สุดสังคมก็จะเดินไปสู่ความยุติธรรมต่อไปได้"

ด้านชัยธวัช มองว่าในวาระ 47 ปี 6 ตุลา ไม่ควรเป็นแค่การรำลึกเหตุการณ์ในอดีต เพราะความรุนแรงในครั้งนั้น ถือเป็นโจทย์ที่ยังตกค้างมาจนถึงปัจจุบันในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพหรือเรื่องอำนาจรัฐที่ควรจะเคารพชีวิตร่างกายของประชาชน ไม่ใช่การให้อำนาจในการพรากชีวิตประชาชนโดยไม่ต้องรับผิดชอบ

"ยังไม่นับว่าในวันนี้ เรายังมีคนถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรง ถูกจำคุกหรือถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานเพราะความคิดเห็นทางการเมืองอีกนับพันคดี ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา" พิธา กล่าว

ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงตัดสินใจยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยตั้งต้นตั้งแต่วันแรกของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรคือวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 จนถึงการดำเนินคดีทางการเมืองในปัจจุบัน

"ผมคิดว่าในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งยืดเยื้อเพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนเองเจตนาดี จึงออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อสร้างสังคมที่ดีในมุมของตนเอง แต่ผมคิดว่าเมื่อขัดแย้งกันยังไม่มีทางออก

"จึงเห็นว่าประตูบานแรกที่จะนำไปสู่การหันหน้ามาคุยกันใหม่ในทางการเมือง ตามเป้าหมายรัฐบาลใหม่ที่อยากจะสร้างความปรองดอง สิ่งที่ต้องทำก่อนคือการคืนความยุติธรรม เพื่อลดกำแพงทุกฝ่ายให้หันหน้ามาคุยกันโดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย เพื่อร่วมกันสรรหาฉันทามติใหม่ในสังคม"ชัยธวัช กล่าว