ไม่พบผลการค้นหา
บทวิเคราะห์จากศูนย์นโยบายไซเบอร์ในสังกัด 'ม.สแตนฟอร์ด' แจงวิธีแยกแยะ 'บัญชีทวิตเตอร์ปลอม' เผยแพร่ชุดข้อมูลสนับสนุนกองทัพและรัฐบาลไทย ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างหนักราวเดือน ก.พ.2563 ช่วงเกิดเหตุพลทหารกราดยิงที่โคราชและคดียุบพรรคอนาคตใหม่

ศูนย์ศึกษานโยบายไซเบอร์ (Cyber Policy Cyber) สถาบันสังเกตการณ์ด้านอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Internet Observatory) เผยแพร่บทวิเคราะห์เครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ในไทย ซึ่งดำเนินการผ่าน 'ทวิตเตอร์' เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา

บทวิเคราะห์ดังกล่าวอ้างอิงการเปิดโปงโดยฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของทวิตเตอร์ ซึ่งระบุว่า มีการสร้างเครือข่ายผู้ใช้ทวิตเตอร์ 926 บัญชีในประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสนับสนุนกองทัพบกและรัฐบาลไทย พร้อมทั้งโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาล

จากกรณีที่เกิดขึ้น พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงว่าจะต้องตรวจสอบข้อมูลกับทางทวิตเตอร์และดูในรายละเอียด แต่จากที่เห็นตามข่าวที่มีการเผยแพร่ เป็นไปในลักษณะการเชื่อมโยงข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้ ซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับกองทัพบก เป็นข้อสรุปที่ไม่เป็นธรรมกับกองทัพบก เพราะการประมวลผลภาพรวมที่ขาดการวิเคราะห์เชิงลึก ด้วยบัญชีผู้ใช้ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของ Cyber Policy Cyber ระบุว่า บัญชีทวิตเตอร์ปลอมเหล่านี้สังเกตได้ง่าย เพราะไม่ได้ใช้วิธีการที่ซับซ้อนใดๆ ในปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร บัญชีส่วนใหญ่สมัครใช้งานช่วงเดือน ธ.ค.2562-ม.ค.2563 ส่วนใหญ่ 'ขโมย' ภาพของบุคคลอื่นมาใช้ แต่ไม่ระบุข้อมูลส่วนตัว ไม่มีผู้ติดตาม หรือมีผู้ติดตามไม่มากนัก

ความเคลื่อนไหวของบัญชีทวิตเตอร์ไอโอเหล่านี้มีความถี่ในการเผยแพร่ข้อความช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.2563 ช่วงที่มีเหตุการณ์พลทหารกราดยิงผู้คนเสียชีวิตจำนวนมากที่ จ.นครราชสีมา บัญชีปลอมเหล่านี้จะเผยแพร่ข้อมูลเชิงบวกให้กับกองทัพไทย มีทั้งการประชาสัมพันธ์ข้อมูลและการแก้ต่างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ

ส่วนข้อความที่ทวิตเตอร์ไอโอเผยแพร่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน คือ การติดแฮชแท็กส่งเสริมกองทัพบกและรัฐบาล ทั้งยังพยายามเผยแพร่ชุดข้อมูลว่ากองทัพไม่เกี่ยวข้องกับพลทหารผู้ก่อเหตุกราดยิง และพยายามเน้นว่า กองทัพรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีแล้ว

หลังจากนั้นเป็นช่วงที่มีการพิจารณาคดียุบพรรคอนาคตใหม่ นำไปสู่การจัดแฟลชม็อบต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ข้อความที่บัญชีทวิตเตอร์ไอโอเผยแพร่ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการโจมตีพรรคอนาคตใหม่และการกู้ยืมเงินจาก 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ทั้งยังมีพฤติกรรม 'กระหน่ำแสดงความคิดเห็น' (dogpile) ต่อทวีตของผู้ใช้ทวิตเตอร์คนอื่นๆ ที่มีจุดยืนตรงข้ามจากรัฐ และส่วนใหญ่เป็นการด่าทอหรือใช้ถ้อยคำเชิงลบ

บัญชีทวิตเตอร์ปลอมที่เผยแพร่ข้อมูลเชียร์กองทัพและรัฐบาลไทย แต่โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ยุติบทบาทลงเกือบทั้งหมดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2563 คงเหลือเพียง 2 บัญชีที่ยังมีความเคลื่อนไหวต่อมาในภายหลัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: