ไม่พบผลการค้นหา
ค้าชายแดน-ผ่านแดนไทยไตรมาสแรกปี 2562 มีมูลค่า 342,631.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.86 มาเลเซียนำโด่งคู่ค้าชายแดน ส่วนจีนตอนใต้มีมูลค่าค้าผ่านแดนเบอร์หนึ่ง กรมการค้าต่างประเทศเตรียมเดินหน้าจัดกิจกรรมส่งเสริมและกระตุ้นการค้าชายแดนต่อเนื่อง

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 (ม.ค. - มี.ค.) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 342,631.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.86 เป็นการส่งออก 192,295.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.49 และการนำเข้า 150,336.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.66 เกินดุลการค้า 41,958.66 ล้านบาท 

แยกเป็นการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ (มาเลเซีย, เมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชา) มูลค่า 279,538.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.18 เป็นการส่งออก 159,887.11 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.95 นำเข้า 119,650.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.17 เกินดุลการค้า 40,236.20 ล้านบาท และการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ (จีนตอนใต้, เวียดนาม และสิงคโปร์) มูลค่า 63,093.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.03 เป็นการส่งออก 32,408.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.57 นำเข้า 30,685.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.61 เกินดุลการค้า 1,722.47 ล้านบาท

สำหรับการค้าชายแดน พบว่า มาเลเซียเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งของไทย มูลค่า 139,631.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.39 เป็นการส่งออก 67,482.39 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.16 นำเข้า 72,149.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.39 รองลงมา คือ เมียนมา มูลค่า 49,647.25 ล้านบาท สปป.ลาว มูลค่า 48,219.51 ล้านบาท และกัมพูชา มูลค่า 42,039.73 ล้านบาท  

ขณะที่ การค้าผ่านแดน พบว่า จีนตอนใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มูลค่า 27,172.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.51 เป็นการส่งออก 9,749.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.58 นำเข้า 17,422.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.35 รองลงมา คือ เวียดนาม มูลค่า 18,723.59 ล้านบาท และสิงคโปร์ มูลค่า 17,197.67 ล้านบาท

ปัจจัยที่ส่งผลให้การค้าชายแดนและผ่านแดนขยายตัวมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีความต้องการสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น และยังได้รับผลบวกจากการที่กรมฯ ได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การผลักดันการเปิดด่าน 24 ชั่วโมงกับมาเลเซีย การแก้ไขปัญหาการออก Form D กับเมียนมา และการผลักดันให้มีการยกระดับด่านการค้าตามแนวชายแดนเป็นด่านถาวรเพิ่มมากขึ้น 

รวมทั้งกรมฯ ยังได้เร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ YEN-D Program โครงการมหกรรมการค้าชายแดน 4 ภูมิภาค การจัดอบรมสัมมนาเพื่อเสริมเทคนิคและองค์ความรู้เกี่ยวกับการค้าการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การจัด Business matching เป็นต้น  

หรือ การจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนใต้ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ระหว่างวันที่ 26–28 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ งานแสดงและจำหน่ายสินค้าโดดเด่นภาคใต้ของไทยกับสินค้าคุณภาพของมาเลเซียและการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ซึ่งมาเลเซียตกลงซื้อสินค้าไทยทันทีกว่า 4 ล้านบาท และคาดว่าจะซื้อต่อเนื่องภายใน 1 ปี อีกกว่า 65 ล้านบาท 

โดยสินค้าที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ เครื่องแกง ไส้เบอร์เกอร์ เครื่องสำอางค์ และข้าวเกรียบปลา รวมถึงยังสามารถส่งออกเครื่องแกงไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียอีกกว่า 12 ล้านบาท/ปี ส่วนมาเลเซียและไทยกำลังเจรจาเพื่อร่วมลงทุนผลิตสินค้าในธุรกิจเบอร์เกอร์เนื้อและเครื่องแกง โดยใช้วัตถุดิบของไทยเพื่อรองรับตลาดมาเลเซีย คิดเป็นมูลค่าการลงทุนเกือบ 200 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมการประชุมร่วมภาครัฐ-เอกชน ระดับท้องถิ่นของไทยกับมาเลเซีย โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะร่วมกันส่งเสริมสินค้าฮาลาล และการท่องเที่ยวชายแดน มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการชายแดนรุ่นใหม่ของไทยกับรัฐชายแดนมาเลเซีย เช่น กลันตัน ตรังกานู ขณะที่หอการค้าจังหวัดนราธิวาสและหอการค้าจีนของรัฐกลันตัน จะรื้อฟื้น MOU ที่เคยลงนามร่วมกันเมื่อปี 2545 เพื่อสานต่อร่วมกันพัฒนาการค้าชายแดน

ส่วนด้านเมียนมา หลังจากกรมฯ ได้นำคณะผู้ประกอบการ SMEs จังหวัดชายแดนไทยเดินทางไปเจรจาจับคู่ธุรกิจ และ Knock Door ผู้นำเข้าที่เป็น Modern Trade รายใหญ่ของเมียนมา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา เมียนมาได้ตกลงร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทย โดยตั้งโรงงานผลิตที่เมียนมา ได้แก่ สินค้าเครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์ทางด้านยางพารา ซึ่งกรมฯ จะจัดกิจกรรมช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุนให้แก่ SMEs ไทย หรือ Start up ชายแดนอย่างต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :