ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัย ชี้ ประกันสังคมไทยได้มาตรฐานสากล แต่บางอย่างแรงงานข้ามชาติไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ ขณะที่ NGOs จากสหรัฐฯ ชี้ บริษัทจ้างงานผิดกฎหมาย ทำแรงงานเดือดร้อน กระตุก NGOs ไทยขยับหน้างานตัวเองด้วย

มูลนิธินิคม จันทรวิทุร ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์ จัดสัมมนา “100 ปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศกับขบวนการแรงงานไทยภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” เนื่องในวันแรงงานสากลและวันแรงงานแห่งชาติปี 2562

นางสาวสาทินี ศีรไพบูลย์ นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนองานวิจัยการคุ้มครองทางสังคมโดยการประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในไทย 3 สัญชาติ คือ เมียนมา กัมพูชาและลาว ซึ่งเปรียบเทียบกฎหมายประกันสังคมของรัฐไทยกับอนุสัญญาหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 102 ว่าด้วยสิทธิด้านการประกันสังคมของแรงงานพบว่า กฎหมายไทยสอดคล้องและตรงตามมาตรฐานสากล โดยการให้สิทธิประโยชน์และคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเท่าแรงงานไทยในระบบประกันสังคม พบการใช้สิทธิคลอดบุตรสูงขึ้นในระยะหลัง แต่แรงงานข้ามชาติใช้บริการประกันสังคมน้อยกว่าแรงงานไทย 

นอกจากนี้ ความเห็นจากหลายฝ่ายรวมทั้งตัวแรงงานข้ามชาติทั้ง 3 ประเทศนั้น มองว่า สิทธิประโยชน์บางอย่างเกินความจำเป็นและไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ อย่างสิทธิคลอดบุตร การประกันการว่างงานและชราภาพ จึงไม่อยากจ่ายเงินสมทบ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติระยะสั้น จึงมีข้อเสนอจากการวิจัย คือ เงินชราภาพอาจจ่ายให้เป็นก้อนลักษณะเงินบำเหน็จ และอาจยกเลิกหรือให้เลือกสมทบเกี่ยวกับการประกันการว่างงาน โดยเฉพาะแรงงานระยะสั้นที่ต้องกลับประเทศบ้านเกิด รวมถึงกรณีคลอดบุตร อย่างประเทศสิงคโปร์ ที่สิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมก็ไม่ครอบคลุม แต่สิทธิประโยชน์และการคุ้มครองเรื่องการเจ็บป่วย ทุพพลภาพและเสียชีวิต ยังจำเป็นและมีในระบบคุ้มครองอยู่แล้ว

นายเดวิด เจสัน รุสโซ นักพัฒนาเอกชนอิสระ หรือ NGOs ด้านแรงงานอพยพ จากสหรัฐฯ มองว่า รัฐไทยพยายามปรับปรุงกฎหมายได้ดีขึ้น แต่แรงงานข้ามชาติในไทยยังมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งคดีความต่างๆ จำนวนมากที่มีความล่าช้าและเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ ปัญหาหนึ่งเกิดจากกระบวนการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานประมง เป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เเรงงานข้ามชาติถูกเอาเปรียบด้วย

นายรุสโซเสนอว่า ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและตรวจสอบไปยังต้นทางของกระบวนการจ้างงานหรือบริษัทจัดหางานว่าดำเนินการถูกกฎหมายหรือไม่ ตลอดจนเปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติในการร้องทุกข์ต่างๆ ซึ่งภาคประชาสังคมและ NGOs ไทยรวมถึงสภาพแรงงานต่างๆ ต้องมีบทบาทในการประสานความช่วยเหลือ สร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลและสถานการณ์แรงงาน เป็นกลไกลให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติทั้งกรณีถูกดำเนินคดีหรือเอาเปรียบจ้างการจ้างงานในรัฐไทย

นอกจากนี้ มีการเสวนาโดยนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และด้านแรงงาน นักสหภาพแรงงาน รวมถึงผู้แทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานด้วย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :