ไม่พบผลการค้นหา
'นิกร' แนะ 'เพื่อไทย'เสนอร่าง 'พ.ร.บ.นิรโทษกรรม' ในนามพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแสดงความเป็น 'รัฐบาลสมานฉันท์' ตามที่เคยประกาศ บอกสังคมแหยงคำว่า 'นิรโทษกรรม' วอนเรียกคำอื่น

วันที่ 11 ธ.ค. 2566 นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมประกบร่างของพรรคก้าวไกล ว่า อันที่จริงจะเรียกว่าเสนอประกบไม่ได้ เพราะเป็นหลักคิดในการดำเนินการทางการเมือง ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองเดิมก็มีปัญหาเรื่องนิรโทษกรรม ทั้งที่จริงเรื่องนั้นจบไปนานแล้ว ดังนั้น จึงเห็นว่าทำไมจึงไม่เสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อประกาศอยู่แล้วว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลสมานฉันท์ แสวงหาความปรองดอง ที่เราสามารถทำได้ชั้นหนึ่งแล้ว คือ สามารถนำพรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามมารวมกันเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้แล้ว ส่วนในรูปธรรม เราก็มาดูแลเรื่องความขัดแย้งต่างๆที่มีอยู่ในสังคมไทย

"และความจริงคำว่านิรโทษกรรม ทุกคนก็แหยงๆอยู่แล้ว หากจะเรียกเป็นอย่างอื่นก็คงได้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในคำที่ถูกใช้กันมายาวนานแล้วเป็นลบ ผมจึงเห็นว่าควรเสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน ในความเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ ก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างแท้จริง" นิกร กล่าว

นิกร กล่าวว่า หรืออีกทางหนึ่งอาจจะเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีหรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งเดิมเคยมีคนศึกษามาแล้ว โดยอาจมีการใช้คำว่าความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยมีหลักการว่าผู้กระทำความผิดโดยมีความเชื่อทางการเมือง ซึ่งจะใช้กฎหมายปกติไม่ได้ จึงอาจจะต้องออกกฎหมายมาเป็นพิเศษ ซึ่งในข้อเสนอดังกล่าวเห็นว่าจะต้องเว้นเรื่องที่อ่อนไหว ได้แก่ ความผิดมาตรา 112 และความผิดกฎหมายอาญาที่รุนแรง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา เช่น ความผิดถึงแก่ชีวิต